EEC ดึง 4 ยักษ์อเมริกาปั้นบุคลากรรับ 5G ดันไทยฮับดิจิทัลอาเซียน

EEC จับมือ 4 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ด้านนวัตกรรมระดับโลก ซิสโก้-มาเวนเนีย-5จีซีที-แพลนเน็ตคอม เดินหน้าพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล ขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G สร้างอุตสาหกรรม 4.0 ตั้งเป้าสร้างคน ตรงความต้องการอุตสาหกรรมดิจิทัล 40,000 คน ภายใน 3 ปี ดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลอันดับ 1 อาเซียน

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวว่า EEC ร่วมกับบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มาเวนเนีย ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท 5จี แคททะลิซท์ เทคโนโลยีส์ จำกัด และบริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือ (MOU) “การพัฒนาทักษะบุคลากร เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G แก่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี (5G & Digital Talent Development in EEC)”

โดยทั้ง 4 บริษัทถือเป็นนักลงทุนสำคัญสัญชาติอเมริกันที่ได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ซึ่งจากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐได้ลงทุนในไทยสูงถึง 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2563 มีการลงทุนตรง (FDI) กว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทั้งไทยและสหรัฐมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอีอีซี และขับเคลื่อนคู่ไปกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ตามแผนลงทุนอีอีซีระยะ 2 ที่จะให้มีมูลค่าการลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท เน้นการลงทุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล 5G

ความร่วมมือดังกล่าวจะนำเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล 5G ต่อยอดในเทศบาลตำบลบ้านฉาง จ.ระยอง สู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) คาดว่าในสิ้นปี 2564 จะเกิดการติดตั้งเสา 5G smart pole แล้วเสร็จรวม 160 ต้น ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่บ้านฉางทั้งหมด นำร่องสู่โรงงานอัจฉริยะ Factory 4.0 ก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นอกจากนี้จะเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะบุคลากร ควบคู่การส่งเสริมประยุกต์ใช้ดิจิทัล และ 5G แก่ภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากร ทั้งด้านเพิ่มทักษะใหม่ ยกระดับ ปรับทักษะบุคลากร New–Up-Reskill ตามแนวทางสร้างคนให้ตรงกับความต้องการ (Demand Driven) ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 คน ภายใน 3 ปี

“การเอา 5G มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเรื่องของการผลิตภายในโรงงาน สถิติเราพบว่าเมื่อ 5G เข้ามาเป็นเครือข่ายในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง 30% นั่นแสดงให้เห็นว่ามันเป็นการเพิ่มและเปิดโอกาส ให้อุตสาหกรรมที่ขยายตัวไม่ได้มีแรงขยับและฟื้นกำลังกลับมา งานเขาไม่ได้ลดลงแต่ผลผลิตเขาเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น มันมีส่วนช่วยดัน GDP ขยายตัว 0.5%”

นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากรฯ สกพอ. กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญ ช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการสรรค์สร้างบริการดิจิทัลให้กว้างขวาง ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วสูงของสัญญาณ 5G ให้การใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation)

ซึ่งปัจจุบันอีอีซีได้ขับเคลื่อนคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ภายใน 5 ปี โดยบุคลากรในพื้นที่อีอีซี จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากพันธมิตรที่ลงนามความร่วมมือในวันนี้ เพื่อสร้างความพร้อม และจูงใจผู้ประกอบการทั่วโลกให้สนใจลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลในพื้นที่อีอีซีต่อไป

นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC) กล่าวว่า อีอีซีประสบความสำเร็จในการพัฒนาบุคลากรร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อยกระดับทักษะบุคลากรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง และวันนี้ ได้ต่อยอดความสำเร็จจากการร่วมกับ 4 พันธมิตรดังกล่าว พัฒนาบุคลากร ยกระดับทักษะด้านดิจิทัล ที่จะเร่งเดินหน้าผลิตคนให้ตรงความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ตามแนวทาง Demand Driven ต่อไป

โดยที่ผ่านมาอีอีซีได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ MOU ที่สำคัญ ๆ ไปแล้ว เช่น หลักสูตร 5G ICT และ Digital ภายใต้ Huawai ASEAN Academy ดำเนินการอบรมทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล 30,000 คนภายใน 3 ปี ความร่วมมือกับ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ผลักดัน EEC Automation Park เน้นการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ เป้าหมาย 8,000 โรงงานในอีอีซี เป็นต้น

นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ผู้นำทางด้านไอทีและระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระดับโลก กล่าวว่า การสร้างทักษะใหม่ (Reskill) จำเป็นในการทำงาน และการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิม (Upskill) ให้ดีขึ้น โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำงาน และสร้างฐานความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น ระบบเครือข่ายและความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมและระบบขนส่งอัจฉริยะ ระบบไร้สายแบบต่าง ๆ สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะ ระบบศูนย์ข้อมูล ตลอดจนระบบบริหารจัดการเครือข่ายที่ควบรวมทั้ง IP และ 5G ให้เป็นหนึ่งเดียว

นายนอร์แมน โดนัลด์ ไพรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ธุรกิจเกิดใหม่ และหน่วยธุรกิจองค์กร บริษัท มาเวนเนีย ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พื้นที่อีอีซีเป็นประตูสู่เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นที่ตั้งของบุคลากรที่สำคัญ โดยบริษัทมีแผนที่จะสร้างเครือข่ายแห่งอนาคต ด้วยการนำซอฟต์แวร์คลาวด์เนทีฟมาใช้ ในการสร้างแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็น และแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นางสาวชาริณี กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท 5จี แคททะลิซท์ เทคโนโลยีส์ จำกัด กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้ Digital Transformation ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อทุกธุรกิจ ดังนั้นในฐานะของตัวแทนบริษัทขนาดย่อมและสตาร์9อัพ จะเข้ามาทำหน้าที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ปรับใช้กับธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการ ธุรกิจสตาร์9อัพ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลบนโครงข่าย 5G โดนตั้งเป้าจัดโครงการฝึกอบรม 5G Connected Tech เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและบุคลากรปีละ 300 คน

นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ กรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เน้นสร้างฐานความรู้และแพลตฟอร์มสำหรับ Smart City Data Platform และ IOT Platform ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนด้านการศึกษาในพื้นที่อีอีซี และช่วยให้ EEC HDC ได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน