โขกค่าฟีน้ำมันฉุดส่งออก สรท.ขอ WTO เร่งแก้ปัญหา

สินค้าทางเรือ

สรท.เตรียมหารือ 2 สมาคมขนส่งทางเรือ เกาะติดผลกระทบสายเรือโขกค่าฟี ดันต้นทุนการขนส่งสินค้าพุ่ง พร้อมเสนอไทยร้อง WTO ตั้งคณะกรรมการ “Fair Trade Committee” ทะลวงปัญหา

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.เตรียมหารือกับสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ (BSAA) และนายกสมาคมผู้รับจัดการขนสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA-Thai International Freight Forwarders Association) ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นี้ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของการขนส่งสินค้าทางเรือจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น

“ค่าธรรมเนียมน้ำมันที่บริษัทสายการเดินเรือปรับขึ้นก็เป็นสิ่งที่ สรท. จะหารือว่าปรับสูงขึ้นเกินจริงไปหรือไม่ พิจารณาจากอะไร แต่ก็คาดว่าค่าธรรมเนียมที่ระบุนั้น น่าจะเป็นการรวมกันของค่าธรรมเนียมทุกรายการ แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องรอผลสรุปภายหลังการหารือ”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สรท.ได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ในหัวข้อ COVID-19 and Rising Shipping Rates : What Are the Factors in Play and What Can Be Done ? ร่วมกับนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และนางแอนนาเบล กอนซาเลซ รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับตัวแทนจากชาติสมาชิก อาทิ สหรัฐ จีน สิงคโปร์ มอริเชียส ฮอนดูรัส และมองโกเลีย

โดย สรท.ได้นำเสนอขอให้ทาง WTO ตั้งคณะกรรมการด้านความเป็นธรรมทางการค้า หรือ Fair Trade Committee ติดตามสถานการณ์ปัญหาและกำหนดกรอบการกำกับดูแล (guideline) ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าของประเทศสมาชิก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างสายการเดินเรือและผู้ส่งสินค้าโดยเฉพาะ SMEs

โดย สรท.รายงานต่อ WTO ถึงสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตการขนส่งสินค้าทางทะเล ต่อการส่งออกไทยและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก จากการปรับขึ้นของค่าระวางเรือประมาณ 7-10 เท่า ในเส้นทางเดินเรือหลัก

ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นวิกฤตระดับโลก ส่งผลต่อการปรับขึ้นของมูลค่าของสินค้า ซัพพลายเชนภาคการผลิตเริ่มไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2021 ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs การแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากและเป็นสินค้าส่งออกพื้นฐานที่สำคัญของไทย

ผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน (cash flow) รวมถึงปัญหาการพัฒนาประสิทธิภาพท่าเรือของไทย (port efficiency) ทั้งในประเด็นแรงงานและเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่ใช้ในการบริหารจัดการยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาความแออัดบริเวณท่าเรือ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสายเรือไม่สามารถจัดสรรตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือให้ตามสัญญาที่ได้ลงนามไว้ เป็นต้น

“โดยทั่วไปสายเรือจะมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าในการกำหนดปริมาณเรือ ระวางสินค้า ค่าระวาง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเล การควบคุมการปฏิบัติตาม service contract อย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยผู้ส่งออกรวมทั้ง SMEs ทำให้สายเรือสามารถรักษาระดับคุณภาพบริการการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สามารถตอบสนองการพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรม และสามารถดำเนินการกำกับดูแลได้ทั่วโลก”

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นต่อแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิ 1) การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท่าเรือ และเชื่อมต่อกับการปฏิบัติงานของโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าของสินค้า ผู้ขนส่ง สายเรือ ท่าเรือ หรือหน่วยงานภาครัฐที่ออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก

เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้สอดคล้องกับความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO’s Trade Facilitation Agreement : WTO’s TFA) และลดปัญหาความล่าช้าของเรือและความแออัดในท่าเรือ

2) ในระยะยาวต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าเรือให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการติดขัดในการปฏิบัติงานและความแออัดของท่าเรือ ซึ่งนำไปสู่ความล่าช้าในการหมุนเวียนตู้สินค้าทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน

3) การส่งเสริมของภาครัฐ โดยเฉพาะการช่วยเหลือ SMEs ด้านเงินทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่ง อาทิ การส่งเสริมและเร่งรัดให้เกิดเชื่อมโยงของท่าเรือภายในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกในการรวบรวมสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับสายเรือ

4) ขอให้มีมาตรการและกลไกช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมและมีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อให้แต่ละประเทศตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบทั่วโลก