สภาองค์กรของผู้บริโภค สกัด ครม.รับวาระ CPTPP เข้าพิจารณา 14 ธ.ค.นี้

การส่งออก
by STR / AFP

สภาองค์กรของผู้บริโภคส่งหนังสือถึงสำนักเลขา ครม. จี้ห้ามรับประเด็น CPTPP เป็นวาระประชุม ครม. 14 ธ.ค.นี้ พร้อมยืนยันข้อเสนอองค์กรผู้บริโภคที่ให้ชะลอเข้าร่วมจนกว่าจะวิจัยเปรียบเทียบผลดี-ผลเสีย เรียบร้อย

จากการที่มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะผลักดันวาระพิจารณาให้รัฐบาลเห็นชอบการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) เพื่อนำเข้าเสนอให้คณะรัฐมนตรีลงมติ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่จะถึงนี้นั้น

วันนี้ (13 ธันวาคม 2564) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ส่งหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ขอให้ สลค.ไม่รับประเด็นการแสดงความจำนงเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP เข้าเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 หรือการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป

และ สอบ.ยังขอยืนยันข้อเสนอเดิมที่เคยเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว คือ ขอให้ชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานของความถูกต้อง กล่าวคือ จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจะแล้วเสร็จ

อีกทั้งยังต้องนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบต่อสาธารณะ หากข้อมูลที่ออกมาพบว่า ผลกระทบด้านลบมีมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง CPTPP ทันที

ก่อนหน้านี้ สอบ.เคยส่งข้อเสนอให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมายังได้มีบัญชาไว้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนศ.พิจารณาและประสานกับ สอบ. เพื่อประชุมหารือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ กนศ.ยังไม่เคยนำประเด็นข้อตกลง CPTPP มาประชุมหารือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเลย จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้เข้าวาระประชุมคณะรัฐมนตรี หากฝืนดำเนินการก็อาจถือได้ว่าขัดเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศไว้กับ สอบ. และเครือข่ายภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม สอบ. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้แสดงข้อห่วงกังวลในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด โดยระบุว่า การพิจารณาเห็นชอบเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศต้องผูกมัดในข้อตกลงหลายประการที่จะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนโดยรวม

นอกจากนี้ สอบ. ภาคประชาชน และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้หารือและสรุปตรงกันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบว่าการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP จะมีผลได้หรือผลเสียมากกว่ากัน ทั้งการค้าและการลงทุนที่เปรียบเทียบกับผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินทางนโยบายที่สำคัญ และต่อมาได้มีความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบดังกล่าว ดังนั้น สอบ.เห็นว่ารัฐบาลควรรองานวิจัยฉบับนี้ก่อนที่จะเดินหน้าเข้าร่วม