สุริยะ หนุนเอกชนไทยใช้ Made in Thailand ลดขาดดุลระหว่างประเทศ

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

สุริยะเผยในงานสัมมนามติชน ก้าวสู่ปีที่ 45 หนุนภาคอุตสาหกรรมจัดซื้อพัสดุที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT)Thai SME-GP ของเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน หวังลดการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ สร้างเม็ดเงินสู่ระบบแรงงานไทยอย่างยั่งยืน

วันที่ 31 มกราคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษระหว่างงานสัมมนาของหนังสือพิมพ์มติชน ก้าวสู่ปีที่ 45 หัวข้อ “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การดำรงชีวิตของประชาชน

ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญ แต่ด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการส่งออกดี ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าในปี 2022 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือจะยังคงขยายตัว 4.0-5.0% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม หรือภาคอุตสาหกรรมที่จะยังคงขยายตัว 2.5-3.5% สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมน่าจะได้รับประโยชน์และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

“อุตสาหกรรมเด่นที่เติบโต เช่น อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมคลังสินค้า ขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ และที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น”

และเพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรม แนวทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้สนับสนุนการใช้งบประมาณของรัฐในการจัดซื้อสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) ด้วยการออกกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง พัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563

และกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการผลักดันผู้ประกอบการของไทยทั่วประเทศ ส่งต่อผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าสู่ระบบการ รับรอง รวมถึงเตรียมความพร้อมและยกระดับผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนไทย เข้าสู่การรับรองสำหรับในระยะต่อไป

นายสุริยะกล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวคิดที่จะขยายขอบเขตการส่งเสริมแนวทางดังกล่าวนี้ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดซื้อเพิ่มมากขึ้น ผ่านการหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนของภาคอุตสาหกรรมในการจัดซื้อพัสดุที่ได้รับการรับรอง รวมถึงการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจัดซื้อในภาคเอกชน ซึ่งการสนับสนุนให้เกิดระบบการซื้อขายสินค้าในประเทศ จะเสริมสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง ช่วยลดการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงทำให้เกิดเม็ดเงินสู่ระบบแรงงานไทยอย่างยั่งยืน

โดยพัสดุที่จัดทำขึ้นหรือจำหน่ายโดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Thai SME-GP ด้วยการออกกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 และกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการผลักดันผู้ประกอบการของไทยทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าสู่ระบบการรับรอง Made in Thailand รวมถึงเตรียมความพร้อมและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรอง Made in Thailand

สำหรับในระยะต่อไปกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวคิดที่จะขยายขอบเขตการส่งเสริมแนวทางนี้ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดซื้อเพิ่มมากขึ้นผ่านการหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนของภาคอุตสาหกรรมในการจัดซื้อพัสดุที่ได้รับการรับรองเป็น Made in Thailand (MiT) Thai SME-GP รวมถึงการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจัดซื้อในภาคเอกชน

ซึ่งการสนับสนุนนี้ก่อให้เกิดระบบการซื้อขายสินค้าในประเทศ และเสริมสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งช่วยลดการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงทำให้เกิดเม็ดเงินสู่ระบบแรงงานไทยอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแนวทางการส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยอุตสาหกรรมชุมชน โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสามารถยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้มีความเข้มแข็งด้วยการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือหมู่บ้าน CIV ภายใต้แนวคิดหลัก คือ การสร้างหมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรมวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ชุมชนมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชน เชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ผ่านการพัฒนาแล้วจำนวนกว่า 250 หมู่บ้านทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังจะต่อยอดการพัฒนาการสร้างเส้นทางท่องเที่ยว (Routing) ที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล (Season) เชื่อมโยงหมู่บ้าน CIV แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ รวมถึงอุตสาหกรรมที่พัก อาหาร และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชน พัฒนามัคคุเทศน์ท้องถิ่นเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนในพื้นที่ และสร้างตลาดของฝากของที่ระลึกจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งการบูรณาการการพัฒนาแบบองค์รวมดังกล่าวจะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอแนวทางดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงานในการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่อไป