ชงบอร์ด กยท.ออก “Coinsยาง” ใช้กองทุนประกันเสี่ยง-มั่นใจราคาขาขึ้น

เหรียญยาง
ภาพประกอบข่าวเท่านั้น ไม่เกียวข้องกับเนื้อหา

“ณกรณ์” ชงบอร์ด กยท. ไฟเขียวศึกษา แนวคิดออกเงินเหรียญดิจิทัล “คอยน์” ซื้อขายยางหวังกระตุ้นตลาดลดความผันผวน ผนึกพันธมิตรเร่งสปีดเทรดช่วงขาขึ้น มั่นใจดันยอดส่งออกปี’65 โต 6% รับอานิสงส์ภาคการผลิตรถยนต์จีนฟื้นสต๊อกขาดชอร์ตซัพพลายไม่พอขาย

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังร่วมเสวนา “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า” (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา) จัดโดยเครือมติชนเร็ว ๆ นี้ว่า

ขณะนี้เตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กยท. (บอร์ด กยท.) พิจารณาแนวคิดในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำระบบการซื้อขายด้วยสกุลเงินดิจิทัลคอยน์มาใช้ในรูปแบบบล็อกเชน

โดยเบื้องต้นได้หารือกับพันธมิตรซึ่งมีทั้งบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการยางและด้านการทำคอยน์ ซึ่งต่างก็ให้การสนับสนุน เพราะหากองค์กรทำจะมีความเสี่ยงน้อย เนื่องจากสามารถค้ำประกันด้วยตัวเองจากที่มีกองทุนยางฯ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความมั่นใจในการเข้ามาซื้อขาย

ประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อมีการลงทุนผ่านคอยน์จะทำให้การเทรดง่ายขึ้นและช่วยลดความผันผวนของราคาได้ ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้เอกชนสนใจเรื่องนี้มาก แต่ทำในลักษณะเฉพาะกลุ่ม หรือที่เรียกว่าเป็นแซนด์บอกซ์ทดสอบระบบก่อน ขณะที่ภาครัฐดำเนินการเองจะต้องระมัดระวัง

Advertisment

“แม้ว่าการทำคอยน์เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและภาครัฐก็สนใจ แต่เป็นเรื่องอ่อนไหวจึงต้องมีหน่วยงานในกำกับ เช่น ก.ล.ต. ธปท.ออกมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมองว่าเรื่องนี้มาแน่นอนจึงได้มีการวางระเบียบและมีการวางกฎหมาย แต่หลักอยู่ที่ว่าจะมาเมื่อไหร่เท่านั้น”

“ยางเป็นสินค้าที่จะทำได้ก่อน เพราะเรามีเงินกองทุนมีเกษตรกรและมีกิจกรรมข้างใน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการทำเรามองว่าอาจจะทำเป็น stable coins ก่อน เพราะเราไม่ได้เน้นไปที่การทำเพื่อเก็งกำไร

ตอนนี้มีการศึกษาเบื้องต้นไว้แล้วเตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการยาง (บอร์ด กยท.) โดยการที่จะออกคอยน์เองจะต้องขออนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย”

นายณกรณ์กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ยางพาราทั้งปี 2565 การส่งออกของเราจะอยู่ที่ประมาณ 6% โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 น่าจะขยายตัว 2.09% ในเชิงปริมาณ และมูลค่าก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

Advertisment

ปัจจัยสำคัญมากจากภาคการส่งออก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 84% มีสัญญาณการฟื้นตัวจากตลาดจีนประเทศผู้นำเข้าหลักสัดส่วน 70% มีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังจากภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัวมากขึ้น

สะท้อนจากดัชนีการผลิตของจีน หรือ PMI อยู่ในระดับที่เกินกว่า 50 ประกอบกับสต๊อกของจีนลดลง 50% จากปกติ ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าจีนได้มีการขยายกำลังการผลิตและความต้องการใช้ยางจะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้น แนวโน้มของตลาดจีนในปีนี้จึงยังมีโอกาสที่จะเติบโตเทียบเท่ากับปี’64

อย่างไรก็ตาม สัญญาณที่พบอีกอย่างคือแนวโน้มของตลาดในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 16 ถึง 17% มีความต้องการใช้มากขึ้น จากการที่บริษัทยางล้อหลายบริษัทย้ายการผลิตเข้ามาในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้ยางเป็นวัตถุดิบมากขึ้น

“วันนี้บริษัทยางล้อมาเปิดในเมืองไทยจำนวนมาก ปริมาณการผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลก็เพิ่มขึ้น มันแสดงให้เห็นว่าเทรนด์ของการใช้ในประเทศก็น่าจะเพิ่มขึ้น”

ในด้านราคายางในช่วงนี้อยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ราคายางแผ่นดิบราคาเกิน 60 บาทต่อ กก. น้ำยางข้นประกันรายได้ กก.ละ 67 บาทต่อ กก. ยางก้อนถ้วยหรือขี้ยาง สมัยก่อนกิโลกรัมละ 12-15 บาท วันนี้ กก.ละ 27 บาท

จากปัจจัยที่สนับสนุนหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะขณะนี้อยู่ในฤดูกาลที่ยังผลัดใบมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง ชอร์ตซัพพลาย

ตลอดจนปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อราคายางสังเคราะห์ รวมถึงดัชนีการใช้ยางของประเทศผู้ใช้ยางปรับตัวไปในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ส่งผลให้ราคายางตอนนี้ปรับตัวค่อนข้างดี

สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการใช้วงเงินลดลงอย่างต่อเนื่องจากราคายางที่สูงขึ้น ปีที่สองลดลงมาเหลือ 7,000 ล้านบาท ปีนี้ผ่านมาครึ่งปีใช้ไป 3,000 ล้านบาท

“ตอนนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ทำงานไปด้วยกันได้อย่างดีวางนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด แม้ว่าไทยจะผลิตและส่งออก 4 ล้านกว่าตันจริง

แต่เรายังส่งออกเป็นเพียงยางธรรมชาติ ไม่ได้ส่งออกในรูปแบบของวัตถุดิบ ซึ่งวันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเรื่องตลาดถุงมือยางเพื่อให้ปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาดและมีหลายกิจกรรมที่ได้ร่วมกันจับคู่ธุรกิจให้เกษตรกรเข้ามาพัฒนาตัวเองให้เป็น entrepreneur (ผู้ประกอบการ) มากขึ้น”

ทั้งนี้ กยท.เองต้องมีส่วนสำคัญในการรักษาสมดุล โดยมีมาตรการชะลอซื้อขายยาง อัดฉีดเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรชาวสวนยางทำให้ราคามีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย bio economy สร้างโอกาสจากการขายคาร์บอนเครดิต โดย กยท.ได้นำร่องในพื้นที่ กยท.ก่อน ปีนี้เป็นปีแรก พื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี ในการสรุปแนวทางเพื่อนไปสู่การส่งเสริมเกษตรกรในระบบต่อไป

สำหรับแผนการส่งเสริมยางในปีนี้จะผลักดันการตั้งเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SECri) เพื่อส่งเสริมการใช้โดยการดึงนักลงทุนเข้ามา จากแหล่งปลูกยางธรรมดาให้เป็นพื้นที่ที่มีการแสดงนวัตกรรมยาง

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำมาร์เก็ตซาวดิ้ง เพื่อรับรู้ความต้องการของนักลงทุน ซึ่งเราใช้เวลาศึกษามาประมาณ 2 ปีแล้ว คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ จากนั้นจะต้องมีการโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนต่อไป

“ กยท.มีพื้นที่ที่เป็นสีม่วงอยู่ประมาณ 40,000 ไร่ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เราก็มองว่าตรงนี้น่าจะเป็นโอกาส เพราะพื้นที่นี้อยู่ใกล้ สุราษฎร์ฯ ตรัง และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ

อาจจะเชื่อมต่อไปจนถึงเรื่องของการทำท่าเรือในการส่งออก ซึ่งจะต่างจากนิคมยางพาราเดิมที่มี 2 แห่ง ซึ่งหากสำเร็จจะสามารถดึงการลงทุนและเพิ่มปริมาณการใช้ได้มากขึ้น ช่วยยกระดับราคายางได้ และกระจายการเติบโตไปยังภูมิภาคอื่นนอกอีอีซี เช่น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)”