ส่อง EECi หนึ่งในสถานีที่รับ ‘ผู้นำเอเปก’

โครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นหนึ่งในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ตามแผนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ที่วางเป้าหมายไว้เพื่อใช้ดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง จูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งได้ปลุกปั้นมาเป็นเวลา 6 ปี นับจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559

โครงการที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในขณะนี้ โดยโครงสร้างภายนอกแล้วเสร็จ 100% เหลือเพียงการปรับภูมิทัศน์และติดตั้งครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คาดว่า EECi จะพร้อมเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. 2565

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2565

ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานว่า โครงการ EECi จะเป็นหนึ่งในสถานที่เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมผู้นำเอเปก ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนเม.ย. 2565

สำหรับโครงการ EECi ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เจ้าภาพหลักได้ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลือกพื้นที่ 3,500 ไร่ “วังจันทร์ วัลเลย์” ที่ จ.ระยอง

โดยจัดแบ่งเป็นพื้นที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโครงการปลูกป่าวังจันทร์รวมกัน 1,000 ไร่ และพื้นที่รอการพัฒนาร่วมกันระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ ปตท. อีก 2,000 ไร่ เพื่อมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) และอุตสาหกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS)

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบถึงความคืบหน้าโครงการธีมปาร์กและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” โดยบริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลกที่จะเป็นเมืองสวนสนุก

เครื่องเล่นอัจฉริยะมาตรฐานโลก สามารถเปิดระยะที่ 1 ได้ในวันที่ 8 เม.ย. 2565 คาดว่าจะช่วยสร้างงานกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้

ส่วนความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้กระทรวงคมนาคมให้เอกชนสร้างส่วนทับซ้อนงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อถึงดอนเมืองซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาโดยไม่เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐ

ส่วนการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ให้กับเอกชน ซึ่งแม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะเริ่มกลับมา แต่ยังห่างจากการประมาณการตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญกับการปรับระยะเวลาค่าสิทธิเป็นสำคัญ โดยเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วก่อนดำเนินการ โดยภาครัฐไม่เสียประโยชน์และเป็นธรรมต่อภาคเอกชนด้วย

และขณะนี้ได้ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 3,493 ไร่ “เกือบครบ 100%” เหลือเพียง 20 ไร่ หรือประมาณ 0.57% คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2565

ส่วนความก้าวหน้าเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภาที่ให้สิทธิเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเทียบเท่าสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง เพื่อสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมง เป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต

ภาษีสรรพากรในบางกรณี และจะสนับสนุนการออก visa ใบอนุญาตการทำงาน 5+5 ปี และได้จัดตั้งบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด โดยอีอีซีถือหุ้น 100% โดยจะประสานงานกับ UTA ที่พัฒนาสนามบิน ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกโดยสมบูรณ์