IRPC อัดงบกว่า 4 หมื่นล้าน ลุยธุรกิจใหม่ จับตารัสเซีย-ยูเครน วัตถุดิบแพง

IRPC เปิดงบ 5 ปี ทุ่มลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าดัน EBITDA โตสูงสุด 35,000 ล้านบาท ในปี 73 เดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ ขยายการเติบโต พร้อมต่อยอดความแข็งแกร่ง จับตาความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน หนุนวัตถุดิบแพง น้ำมันพุ่ง

วันที่ 2 มีนาคม 2565 นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้วางแผนการลงทุนธุรกิจ 5 ปี (2565-2569) ในวงเงินรวม 41,350 ล้านบาท ตามกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งในฐานธุรกิจปัจจุบัน

โดยตั้งเป้าหมายมีกำไร ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา(EBITDA) 25,000 ล้านบาทในปี 2568 และ 35,000 ล้านบาทในปี 2573 โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ พร้อมขับเคลื่อนองค์กร สู่ความยั่งยืนในทุกมิติ สร้างคุณค่าร่วมต่อสังคม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ในปี 2030

โดยการลงทุนดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ การต่อยอดการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน การลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียงและการสร้างธุรกิจใหม่ อาทิ

Advertisment

โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (UCF) มูลค่า 1.33 หมื่นล้านบาท โครงการ Strengthen IRPC เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานและสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรและโครงการลงทุนทั่วไป ตลอดจนการพัฒนาและการเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 23% ในปี 2022 เป็น 55% ในปี 2030 เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าของโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (UCF) ยังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโรงงาน

โดยจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1 ปี 2067 ขณะที่ความคืบหน้าโครงการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ ที่บริษัทฯ ถือหุ้น 60% ในการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2 ปี 2022 เพื่อช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

Advertisment

สำหรับ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น บริษัทติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าไทยนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไม่ได้มีสัดส่วนมาก เนื่องจากการขนส่งไม่สะดวกนักจึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

แต่ทั้งนี้บริษัทก็ได้เตรียมรับมือโดยมีแผนรองรับเพื่อให้มีน้ำมันในประเทศมีใช้อย่างเพียงพอ แต่ผลที่เกิดขึ้นไปแล้วคือราคาน้ำมันในตลาดเบรนท์ปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นไปกว่า 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว ก็ต้องจับตาในตลาดดูไบว่าจะเพิ่มขึ้นสูงตามหรือไม่ ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องมีนโยบายในการดูแล

“จากสถานการณ์สงครามมองว่าจากมีโอกาสสูงที่จะส่งผลวัตถุดิบหรือต้นทุนในภาคการผลิตนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยโดยเฉพาะด้านแรงงาน ขณะที่การผลิตยังไม่กลับมาที่เดิม แต่ความต้องการกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ และเมื่อโดนปัจจัยเรื่องค่าพลังงานที่แพงขึ้นเพิ่มไปอีกนั้น ก็จะส่งผลโดยตรงกับราคาสินค้ารวมถึงต้นทุนต่าง ๆ

ซึ่งในแต่ละรายก็ต้องหาแผนรองรับให้สามารถผ่านช่วงเวลาที่กดดันนี้ไปได้ แต่ยุทธศาสตร์ของไออาร์พีซีมุ่งเน้นในการพัฒนาด้านใหม่ ๆ กับพาร์ตเนอร์ที่มีความมั่นคงอยู่แล้ว จึงไม่น่าได้รับผลกระทบในเรื่องการลงทุนจากเหตุการณ์นี้”นายชวลิต กล่าว