ลดผูกขาดธุรกิจพลังงาน 4 ล้านล้าน โจทย์ใหญ่ “กกพ.”

พลังงาน

ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล หากดูเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะพบว่าปี 2564 ธุรกิจกลุ่มนี้มีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.04 ล้านล้านบาท

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจเฉพาะที่ “ตลาดยังจำกัดอยู่ที่รายใหญ่” ดังนั้น การวางมาตรการกำกับดูแลลดการผูกขาดในธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จัดเวทีเสวนา “การกำกับการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน สร้างความเป็นธรรมให้ธุรกิจพลังงาน

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.มุ่งเน้นการกำกับดูแลและส่งเสริมให้กิจการพลังงานเกิดการแข่งขัน ไม่ใช่การผูกขาด โดยให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ข้อมูลสำคัญมาก ธุรกิจหรือคนแข่งใหม่ ๆ จะได้ตัดสินใจได้ เพราะข้อมูลมีค่าใช้จ่ายหายาก 2.ตัวระเบียบพอรายเล็กมาปฏิบัติกลายเป็นภาระ 3.การเข้าไปบังคับใช้ตัวระเบียบให้เกิดประสิทธิภาพ

เสมอใจ ศุขสุเมฆ

Advertisment

ขณะที่แนวทางการกำกับดูแลกิจการพลังงานนั้น จำเป็นต้องออกมาในลักษณะส่งเสริมไม่ใช่เป็นการสร้างต้นทุนหรือกีดกันผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาแข่งขัน ซึ่งประเด็นนี้การให้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่จะตัดสินใจเข้ามาแข่งขัน เพราะกฎระเบียบบางอย่างมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หรืออาจจะไม่เอื้อผู้ประกอบการรายเล็กอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น สิ่งสำคัญจะต้องวางแนวทางที่สร้างประโยชน์กับทุกฝ่ายให้มากที่สุด ไม่ให้เกิดการผูกขาด

“กกพ.ต้องระวังเรื่องการผูกขาด บางครั้งกฎหมายที่ออกมา เช่น ไฟฟ้า บางทีไปกีดกันรายเล็ก ๆ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนโดยที่เราเองอาจไม่รู้ตัว เช่น ระเบียบที่ยุ่งยากกว่าจะขออนุญาตได้ยาวมาเป็นปี รายเล็กเขาก็ไม่อยากทำกรณีอุทธรณ์เร่งด่วน 3 วัน กลายเป็น 90 วันล้มละลายไปแล้ว ยกตัวอย่างแบบนี้ไม่ไหว แข่งขันไม่เท่ากัน”

คมกฤช-ตันตระวาณิชย์

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า
หลังจากได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการกำกับดูแลการแข่งขันในการประกอบกิจการพลังงานกับ กขค.ไปก่อนหน้านี้ มุ่งหวังว่าจะสร้างกรอบแนวทางในการกำกับดูแลกิจการพลังงานร่วมกัน เพื่อสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้ประกอบการและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ใช้พลังงาน

Advertisment

“ก๊าซ” ผูกขาดโดยธรรมชาติ

นายพิทักษ์ จรรยพงษ์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กิจการก๊าซธรรมชาติของไทยมีลักษณะเปรียบเสมือนการผูกขาดโดยธรรมชาติ ธุรกิจนี้เริ่มเมื่อปี 2524 เป็นธุรกิจที่มีการลงทุนที่สูงมาก รายแรกที่ระดมทุนกิจการก๊าซธรรมชาติ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมกิจการโดยมีการเซ็นสัญญาในระยะยาว อย่างเช่น โรงไฟฟ้าเซ็นสัญญายาวถึง 25 ปี และแต่ละสัญญาเมื่อครบอายุไม่เท่ากัน นั่นจึงทำให้รายใหม่เข้ามาแข่งขันยากขึ้น

ทั้งนี้ รูปแบบกิจการก๊าซธรรมชาติจะเป็นในลักษณะซื้อมา-ขนส่งและก็ขายออกไป การใช้ก๊าซธรรมชาติในไทย 50-60% ใช้ในกิจการไฟฟ้า และอีก 16.5% ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือใช้ใน NGV โดยจะอาศัยการขนส่งทางท่อเป็นหลัก ซึ่งทำให้ “กลุ่มที่อยู่ใกล้ท่อ”เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในภาคกลาง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ปรับให้มีการขนส่งทางอื่นทั่วประเทศ โดยการแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเป็นของเหลว ให้สามารถขนส่งได้ ทางรถขนส่งเพิ่มจากเดิมที่ขนส่งทางท่อ เพื่อเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งลูกค้าในกลุ่มก๊าซธรรมชาติปัจจุบันมีประมาณ 900 ราย แต่มูลค่าการซื้อขายต่อปีประมาณ 500,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลส่งเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้นในกิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีการทดลองเปิดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ.เข้ามาแข่งขันกับ ปตท.ได้

ลดผูกขาดเปิดเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซ

นายภูวนารถ ชุณหปราณ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการจัดหาและควบคุมระบบก๊าซธรรมชาติ กล่าวว่า การกำกับกิจการพลังงานจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.กำกับดูแลกิจการ 2550 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้ใช้ ปัจจุบัน กกพ.กำกับกิจการหลัก 2 กิจการ คือ ไฟฟ้า มี 5 ประเภทใบอนุญาต และก๊าซธรรมชาติ มี 4 ประเภทใบอนุญาต

สำหรับกิจการด้านก๊าซธรรมชาติมีการส่งเสริมการแข่งขัน โดยผลักดันให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้น ตั้งแต่การจัดหาก๊าซ การหาลูกค้า ซึ่งทางสำนักงานได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 ให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อท่อก๊าซธรรมชาติหรือสถานี NGV ที่เก็บของเหลวซึ่งเป็นกิจการที่ลงทุนสูงและค่อนข้างผูกขาดได้ โดยเปิดให้บุคคลที่ 3 สามารถเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นของ ปตท.ตั้งแต่ปี 2557 และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 2558

และในปี 2560 ได้ให้ กฟผ.เป็นผู้จัดหารายใหม่ของประเทศในก๊าซธรรมชาติ ทดสอบการนำเข้า LNG 2 ลำเรือในปี 2562 ทั้งยังได้มีการศึกษาและปรับรูปแบบการกำกับดูแลให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้น ทาง กกพ.ได้มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใหม่ในการจัดการขนส่งก๊าซธรรมชาติ และเมื่อเมษายน 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทั้งระบบท่อและสถานี LNG โดยมีการกำหนดโครงสร้างใหม่ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการใช้งาน

เปิดแข่งขันโรงไฟฟ้าชุมชน

อีกด้านหนึ่ง นางสาวจีรวรรณ โรจน์เจริญชัย ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการจัดหาและควบคุมระบบไฟฟ้า กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นหนึ่งในโครงการที่เปิดให้ทั้งประเทศได้มีการแข่งขัน “ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า” เข้าสู่ระบบโดยไม่ได้จำกัดพื้นที่

หน้าที่ กกพ.คือการกำหนดหลักเกณฑ์และออกกฎระเบียบ เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้รับซื้อไฟ

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้รับการตอบรับอย่างดี ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทพลังงานชีวภาพ (biogas) ขนาด 3 เมกะวัตต์ และพลังงานชีวมวล (biomass) ขนาด 6 เมกะวัตต์ ซึ่งได้นำร่องเฟสแรกไปแล้วตามเป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ โดยมีผู้ชนะการประมูล 43 ราย รวม 149.50 เมกะวัตต์ จากที่ยื่นสมัครมาถึง 246 ราย รวม 864 เมกะวัตต์ เกินเป้าหมาย 5.7 เท่า

มีการกระจายรายได้สู่ภาคเกษตรที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ร่วมโครงการจะต้องเป็นบริษัทที่ภาคเอกชนถือหุ้น 90% และอีก 10% เป็นหุ้นบุริมสิทธิให้กับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่าย ซึ่งจะมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 200 ครัวเรือน และขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และอีกเงื่อนไขที่สำคัญคือ เชื้อเพลิงที่ใช้ 80% ต้องปลูกโดยวิสาหกิจชุมชนหรือเกษตรกรผ่านระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้า และผลประโยชน์ที่โรงไฟฟ้าจะให้กับชุมชน นอกจากค่าเชื้อเพลิงแล้วต้องตกลงในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น

ผลสำเร็จจากโครงการนี้ไม่เพียงสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ยังถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการพลังงานอีกด้วย