ค้าชายแดน-ผ่านแดนฉลุย เกินดุลทะลุ 2 แสนล้าน-มาเลย์โตสุด

การผลักดันการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ตามเป้าหมายที่จะเติบโตไปด้วยกัน “กรมการค้าต่างประเทศ” กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการทำงานด้านนี้ “อดุลย์ โชตินิสากรณ์” รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เล่าถึงภาพรวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) 2560 ว่ามี มูลค่าการค้า 1,082,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.58% เป็น การส่งออก 645,963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.14% และการนำเข้า 436,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.46% ทำให้ ไทยได้ดุลการค้าถึง 209,662 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงเกินกว่า 2 แสนล้านบาทเป็นปีแรก

โดยเฉพาะในส่วนการค้าชายแดนมีมูลค่า 894,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.12% ไทยส่งออก 540,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.79% และนำเข้า 353,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.65% จากการค้ากับมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 50% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด รองลงมาคือ เมียนมา สัดส่วน 20% สปป.ลาว สัดส่วน 20% และกัมพูชา สัดส่วน 10%

มาเลย์แชมป์ค้าชายแดนสูงสุด

กรมการค้าต่างประเทศพบว่า ยอดค้าชายแดน 10 เดือนที่เติบโตนั้น มาจากการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด เป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงสุด โดยมีการส่งออก 262,690 ล้านบาท ขยายตัว 24.35% นำเข้า 209,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.39% ไทยได้ดุลการค้า 53,093 ล้านบาท

Advertisment

โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้แปรรูป เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการค้าชายแดน ทั้งจากกฎระเบียบภายในของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน ตลอดจนปัญหาความแออัดของด่านศุลกากรบางด่าน เช่น ด่านสะเดา ด่านแม่สอด ด่านแม่สาย แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยอาศัยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานจนทำให้ภาพรวมการค้าเพิ่มขึ้นได้

ทิศทางการค้าชายแดนปี”61

นายอดุลย์มองว่า ทิศทางการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในปี 2561 ยังมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มเพื่อนบ้านในอาเซียน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เป็นกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวของจีดีพีสูงถึง 7-8% อย่างต่อเนื่องอีกทั้ง ประเทศมหาอำนาจทั้งจีน อินเดีย ต่างมีนโยบายเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงมาในกลุ่มอาเซียน เช่น นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road : OBOR) ของจีน นโยบายการสร้างถนนเชื่อมโยง 3 ประเทศ (Trilateral Highway) ของอินเดีย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องผลักดันการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนอย่างจริงจังเพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้

Advertisment

เปิดแผนดันค้าชายแดน

โดยในช่วงต้นปี 2560 จะมีการประชุมคณะกรรมการค้าชายแดน โดยกรมการค้าต่างประเทศเตรียมรายงานแผนผลักดันการค้าชายแดน ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ 4 โครงการ คือ 1) การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (YEN-D) เพิ่มอีก 4 รุ่น 2) การส่งเสริมมหกรรมค้าชายแดน 4 ภูมิภาค ได้แก่ กัมพูชา จัดที่ จ.สระแก้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมียนมาจัดที่ จ.กาญจนบุรี เดือนเมษายน, มาเลเซีย จัดที่ จ.สงขลา ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีการจัดแฟร์ภายใต้ IMT-GT และ สปป.ลาว จัดที่ จ.หนองคาย ในเดือนกรกฎาคม

3) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ 4 จังหวัด คือ เชียงราย ตราด สงขลา และกาญจนบุรี และ 4) ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน 5) การลงพื้นที่จังหวัดชายแดน คือ สระแก้ว สงขลา เชียงราย และ 6) จัดคณะผู้แทนการค้าและการลงทุนเยือนเวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว และเมียนมา

ต่อยอด YEN-D Plus สร้างพันธมิตรนอก CLMV

“ความมั่นใจ” หรือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ในการทำธุรกิจ

ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการส่งเสริมการค้าชายแดนกรมการค้าต่างประเทศ จึงได้จัดทำโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Young Entrepreneur Network DevelopmentProgramme : YEN-D) ขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ให้มาเข้าร่วมการอบรมและสร้างความสัมพันธ์นำไปสู่การสร้าง “พันธมิตรทางธุรกิจ”

ปัจจุบันโครงการนี้ดำเนินการมาแล้ว 3 รุ่น มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 861 คน ประโยชน์ของโครงการนี้ไม่ใช่เพียงประสบความสำเร็จในการสร้างมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าด้านต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี และสามารถสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจระหว่างกันมากขึ้นด้วย

ล่าสุด นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า โครงการ YEN-D ซีซั่น 4 จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 25 มกราคม 2561 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้ 60 ราย เริ่มเรียน 17-21 มีนาคมนี้ เบื้องต้นแนวคิดในการเรียนหลักสูตรจะเน้นส่งเสริมการทำการตลาดให้กับธุรกิจท้องถิ่น จ.กาญจนบุรี

หลังจากดำเนินโครงการมา 3 รุ่น ทำให้มีผู้ประกอบการจากกลุ่มประเทศนอก CLMV เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ได้พยายามติดต่อเข้ามาขอร่วมโครงการทางกรมการค้าต่างประเทศได้ตัดสินใจขยายโครงการ “YEN-D Plus” นำร่องกับสมาคมนักศึกษาเก่าญี่ปุ่น โดยมีกำหนดจะลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในเดือนมกราคมนี้ โดยสมาคมประสานกับทางกระทรวงพาณิชย์ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ซึ่งจะมาช่วยสนับสนุนโครงการนี้ด้วย โดยกรมการค้าต่างประเทศจะคัดเลือกผู้ประกอบการจากโครงการ YEN-D จำนวน 25 คน เพื่อเข้าร่วมรับการอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ยังมีแผนจะแตกยอดโครงการ “YEN-D Frontier” สำหรับประเทศอาเซียนนอก CLMV นำร่องกับประเทศมาเลเซีย เพื่อต่อยอดการสร้างเครือข่ายกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย และมีการประสานจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ Reunion จับคู่ธุรกิจในเครือข่ายเวียนไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในกลุ่มสมาชิกมากขึ้น