รัฐอัดฉีด 1.5 แสนล้านกระตุ้นศก.ฐานราก “ธนวรรธน์” ชี้ช่วยเพิ่มเงินเข้าระบบ7-8หมื่นล้าน ขอไม่ตอบประชานิยมหรือไม่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจัดทำงบประมาณกลางปี 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท สำหรับใช้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ช่วยผู้มีรายได้น้อย และปฏิรูปการเกษตร ว่า เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยตรงที่จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อมีการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อยให้ใช้จ่ายได้มากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้การใช้ชีวิตดีขึ้น และคาดว่าจะมีเงินเติมสู่ระบบเพิ่มอีกประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อเดือน จากที่มีอยู่แล้ว 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบรวมทั้งสิ้นเฉพาะจากบัตรสวัสดิการประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาท หรือรวมทั้งปีมีเงินสู่ระบบประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท ในส่วนงบปฏิรูปเกษตร เชื่อว่าหากทำประโยชน์ก็จะตกแก่เกษตรกรโดยตรง ส่วนว่าจะประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ยังต้องติดตามรายละเอียดของแผนงานต่อไป

“ส่วนว่านโยบายและการใช้งบประมาณดังกล่าวเป็นประชานิยมหรือไม่ พูดยาก ส่วนเป็นการทำเพื่อฐานคะแนนเสียงหรือคะแนนนิยมของรัฐบาล ทุกพรรคทำแบบนี้หมด เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น จึงเป็นเรื่องก้ำกึ่ง คือทำเพื่อแก้ไขปัญหาจริงๆ และเป็นงานที่ต้องทำเพื่อให้คนยอมรับและชื่นชม ไม่รู้ว่าหวังผลทางการเมืองไหมในการเลือกตั้ง แต่คนเป็นรัฐบาลก็ต้องทำงานให้ดี เชิงเศรษฐศาสตร์ไม่กล้าฟันธงเป็นประชานิยมไหม แต่ทำแล้วประชาชนจะนิยมรัฐบาลเพิ่มขึ้นไหม คำตอบคือใช่” นายธนวรรธน์กล่าวและว่า ส่วนประเด็นวินัยทางการคลัง เชื่อว่ารัฐบาลดำเนินการอยู่ในกรอบของงบประมาณที่สามารถทำได้อยู่แล้ว

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ทางศูนย์ฯ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 4.2-4.5% การส่งออกจะขยายตัว 4-5% โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนในไตรมาส 2 นี้ ตามการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันและพืชผลทางการเกษตรอยู่ในช่วงขาขึ้น ประกอบกับการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนของภาครัฐ แต่ยังมีประเด็นกังวล การแข็งค่าของเงินบาท หากยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอาจกระทบการส่งออก รายได้ที่เป็นเงินบาทจะหายไปประมาณ 100,000 ล้านบาท อาจทำให้จีดีพีลดลง 0.7% ซึ่งไม่กระทบแค่ผู้ส่งออก แต่จะกระทบกับเอสเอ็มอี และภาคเกษตร ดังนั้นหากดูแลค่าเงินบาทไม่ดี อาจจะกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจซึ่งขณะนี้กำลังฟื้นตัวช้าๆ ด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรดูแลให้มีเสถียรภาพและดูแลเรื่องเงินเข้ามาตลาดหุ้นเพื่อเก็งกำไรในประเทศด้วย

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ส่วนการปรับขึ้นค่าแรง ที่เลื่อนเคาะสรุปตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันที่ 17 มกราคมนี้ เชื่อว่าจะได้ข้อสรุป โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยการปรับขึ้นที่ 2-15 บาท ซึ่งยังไม่ลงตัว เชื่อว่าการปรับขึ้นน่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 10-15 บาท เพื่อให้เกิดความพอใจและตกลงกันได้ทั้งแรงงานและนายจ้าง และให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามต้องรอดูตัวเลขที่แท้จริงว่าปรับขึ้นเท่าไหร่ แต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร การปรับขึ้นนี้ควรยึดหลักการที่ให้ผู้ประกอบการและแรงงานอยู่ได้ รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบที่เอสเอ็มอีจะต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องอาจหายไป ส่งผลให้กำไรลดลงหรือขาดทุนเล็กน้อย เรื่องนี้จึงควรคำนึงถึงทุกฝ่าย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์