แนะ ร.ร.เอกชน ปรับการสอน หลังเด็กสอบเทียบวุฒิ-ลาออกกลางคันมากขึ้น

แนะ รร.เอกชน ปรับการสอน
ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ภาพจาก มติชน)

นายกสมาคมการศึกษาเอกชน แนะ ร.ร.เอกชน ปรับการสอน หลังเด็กไทยสอบเทียบวุฒิระดับ ม.ปลายอเมริกา-ลาออกมากขึ้น 

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 จากกรณีที่นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุเทรนด์การเรียนในปัจจุบัน ว่าเด็กในวัยเรียนสนใจมาเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพิ่มมากขึ้น เพราะเด็กนิยมเรียนไป ทำงานไป และจะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก ที่จะมีนักเรียนในชั้นเรียนลดลงนั้น

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ให้สัมภาษณ์กับมติชน ถึงกรณีดังกล่าว โดยมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนมากนัก เพราะส่วนใหญ่เด็กที่เรียน กศน.จะจบชั้น ม.3 ก่อนถึงตัดสินใจไปเรียน

ดังนั้น ถ้าโรงเรียนเอกชนที่ไหนเปิดสอนถึงระดับชั้น ม.3 จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าเปิดสอนถึงระดับชั้น ม.6 จะได้รับผลกระทบ แต่กระทบเป็นส่วนน้อย เพราะโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนชั้นมัธยมปลายด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนเอกชนพบปัญหาที่น่าห่วงคือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย ทั้งรัฐและเอกชนไปสอบ General Educational Development (GED) การสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบอเมริกา (US High School Equivalency Diploma) กันจำนวนมาก

Advertisment

ซึ่งการสอบ GED เพื่อเทียบวุฒิมัธยมปลาย ใช้ยื่นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ปัจจุบันพบว่ามีนักเรียนชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนเอกชนประมาณ 10% เข้าไปสอบ GED ถือเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า การสอบ GED นั้น เด็กจะเข้าสอบได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี หากได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแล้ว เมื่อเด็กสอบเทียบได้ จะลาออกกลางคัน หรือบางรายอาจจะลาออกเพื่อไปเตรียมสอบ ส่งผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายกับโรงเรียนเอกชน เช่น ด้านการคำนวณเงินเพื่อจ้างครู ที่อาจจะไม่คุ้มค่า เพราะแต่ละปีโรงเรียนจะคำนวณว่าเมื่อเด็กเข้ามาเรียนชั้น ม.4-6 ใน 3 ปีนี้ โรงเรียนจะได้รับค่าเทอมมาบริหารจัดสรรเป็นเงินเดือนครูเท่าใด

แต่ถ้านักเรียนออกกลางคันจำนวนมาก การจ่ายค่าจ้างครูอาจมีปัญหาได้ ที่ผ่านมา ส.ปส.กช.หารือร่วมกัน และเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่นักเรียนไปสอบ GED จำนวนมาก เพราะเบื่อระบบการศึกษาของประเทศ ดังนั้น โรงเรียนเอกชนต้องปรับตัว ปรับการเรียนการสอนให้น่าสนใจมากขึ้น เพราะไม่สามารถบังคับเด็กให้มาเรียนได้