สถาปัตย์ จุฬาฯ จัดนิทรรศการโชว์แผนพัฒนาชุมชนเก่าแก่ย่านบางโพ

สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดนิทรรศการย่านบางโพ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ชวนชมนิทรรศการจากบางโพ (ซิเบิ้ล) สู่บางโพลีฟวิ่งแล็ป ผลงานนิสิต จับมือชุมชนประชานฤมิตร แหล่งรวมผู้ประกอบการงานไม้ ย่านบางโพ ต่อยอดการอนุรักษ์พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 จากความสำเร็จของนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” (BANG PO(SSIBLE) เมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับชุมชนประชานฤมิตร ชุมชนเก่าแก่ย่านบางโพ ที่เป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการงานไม้ที่มีอายุกว่า 80 ปี บนถนนสายไม้บางโพ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตกับชุมชน เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ในปีนี้ได้มีการต่อยอดสู่นิทรรศการ “จากบางโพ (ซิเบิ้ล) สู่บางโพลีฟวิ่งแล็ป : ร่วมเรียน-ร่วมสร้าง ชุมชนกับมหาวิทยาลัย” (From Bang Po (ssible) to Bang Pho Living Lab : University-Community Co-Learning and Co-Creation) ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้นิทรรศการบางโพ ซ.ประชานฤมิตร เป็นห้องทดลองปฏิบัติการนอกห้องเรียนของนิสิตผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน

รวมทั้งเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ร่วมสร้างสรรค์และยกระดับชุมชน เป็นพื้นที่ร่วมทดลองปฏิบัติการจริงระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชุมชนสายไม้บางโพ ซึ่งนิทรรศการได้เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มิภุนายน 2566

ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดนิทรรศการ กล่าวว่า นิทรรศการ จากบางโพ (ซิเบิ้ล) สู่บางโพลีฟวิ่งแล็ป ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนจนประสบความสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้ได้ขยายขอบเขตการทำงานที่ใหญ่ขึ้น

โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก CU Social Innovation Hub ทำให้ชุมชนบางโพเป็นลีฟวิ่งแล็ป หรือห้องทดลองปฏิบัติการนอกห้องเรียนสำหรับนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 180 คน และเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนใน 7 รายวิชา เช่น วิชาโครงสร้าง วิชาภูมิทัศน์ วิชาการวางผังเมือง การฟื้นฟูเมือง การออกแบบสถาปัตยกรรม ฯลฯ ซึ่งนิสิตได้มีโอกาสลงพื้นที่ทำงานจริงร่วมกับชุมชน

“นิทรรศการในครั้งนี้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย ซึ่งแตกต่างจากปีที่แล้ว ที่นิสิตเป็นผู้ออกแบบ ส่วนหนึ่งของผลงานที่น่าสนใจในนิทรรศการครั้งนี้ ได้แก่ แผนที่ท่องเที่ยวเขตบางซื่อ ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 เวอร์ชั่น เช่น แผนที่สายมู สายกิน สายคอนเทนต์ เป็นต้น สิ่งสำคัญที่นิสิตจะได้รับจากงานนี้ก็คือ การออกไปปฏิบัติงานจริง และได้ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับบุคคลภายนอก นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน”

สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดนิทรรศการย่านบางโพ

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายสร้างเศรษฐกิจเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากคนในย่านนั้น ๆ ให้ความร่วมมือร่วมใจกัน มีหลายย่านที่เรากำลังจะผลักดัน หนึ่งในนั้นคือบางโพ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ไม้และมีสินค้าอื่น ๆ ที่จะสามารถต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ของย่านบางโพได้ในอนาคต สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นเศรษฐกิจเมืองได้ในอนาคต

นายภูริสิทธิ์ สิริวโรธากุล ประธานชุมชนประชานฤมิตรเปิดเผยว่า นิทรรศการบางโพลิฟวิ่งแล็ปในปีนี้ต่อยอดมาจากบางโพ (ซิเบิ้ล) โดยนำชุมชนมาเป็นห้องทดลองใหญ่ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าชุมชนจะอยู่อย่างไรให้ยั่งยืน เช่น การสร้างวิสัยทัศน์ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความร่วมมือ และการแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ เพื่อจะเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

“ชุมชนของเราเป็นชุมชนการค้างานไม้ การที่นิสิตได้เข้ามาช่วยสำรวจพื้นที่และแก้ไขปัญหา ทำให้ชุมชนของเราเห็นมุมมองต่าง ๆ ที่ชุมชนมองข้ามไป เช่น พื้นที่ในการเดิน การปรับปรุงคลองให้ใสสะอาด สวยงามและสามารถพักผ่อนได้ รวมถึงการออกแบบแผนที่และโครงสร้างอาคารต่าง ๆ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ที่สามารถปรับใช้ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก ชุมชนรู้สึกดีใจที่ได้ทำงานร่วมกับนิสิตที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาชุมชน”

สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดนิทรรศการย่านบางโพ

สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดนิทรรศการย่านบางโพ

อย่างไรก็ตาม นิทรรศการ “จากบางโพ (ซิเบิ้ล) สู่บางโพลีฟวิ่งแล็ป” จัดแสดง ณ ศูนย์การเรียนรู้ นิทรรศการถนนสายไม้บางโพ ซอยประชานฤมิตร จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.