การศึกษาไทยวิกฤต ผลสอบ PISA 2022 คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี

นักเรียน
ภาพจาก PIXABXAY

ผลการสอบ PISA 2022 ซึ่งวัดทักษะเด็กอายุ 15 ปี ทั่วโลก สะท้อนระบบการศึกษาส่อวิกฤต หลายประเทศคะแนนลดลง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ร่วงต่ำสุดในรอบ 20 ปี 

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD ได้เปิดเผยผลทดสอบโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2022 ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า “ทักษะของนักเรียนหลายประเทศกำลังลดลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน”

การประเมิน PISA 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณเกือบ 700,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

สำหรับผลคะแนน PISA 2022 ที่ประกาศออกมานั้นพบว่านักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้

คณิตศาสตร์

สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศในเอเชียทั้งหมด ได้แก่

Advertisment
    1. สิงคโปร์
    2. มาเก๊า
    3. จีนไทเป
    4. ฮ่องกง
    5. ญี่ปุ่น

สำหรับเด็กไทย ทักษะด้านคณิตศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อับดับ 31) บรูไน (อันดับ 40) และมาเลเซีย (อันดับ 54)

การอ่าน

สมรรถนะด้านการอ่าน สิงคโปร์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยอีก 9 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจตามลำดับ ได้แก่

    1. สิงคโปร์
    2. ไอร์แลนด์
    3. ญี่ปุ่น
    4. เกาหลีใต้
    5. ไต้หวัน
    6. เอสโตเนีย
    7. มาเก๊า
    8. แคนาดา
    9. สหรัฐอเมริกา
    10. นิวซีแลนด์

สำหรับประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่ได้ 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ โมร็อกโก, อุซเบกิสถาน และกัมพูชา ขณะที่ประเทศและเขตเศรษฐกิจยุโรปส่วนใหญ่อยู่ในอันดับกลาง ๆ โดยสหราชอาณาจักร มีผลประเมินอยู่ในอันดับที่ 13 ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2018 ส่วนกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ประเทศชิลี อยู่ในอันดับสูงสุดของทวีป และเป็นอันดับที่ 37 จากประเทศทั้งหมดที่เข้ารับการประเมิน

ส่วนไทย ทักษะการอ่านอยู่อันดับที่ 64 จาก 81 ประเทศ เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 34) บรูไน (อันดับ 44) และมาเลเซีย (อันดับ 60)

Advertisment

วิทยาศาสตร์

สำหรับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สิงคโปร์มาเป็นอันดับหนึ่งอีกเช่นกัน โดยมีอันดับอื่น ๆ ดังนี้

    1. สิงคโปร์
    2. ญี่ปุ่น
    3. มาเก๊า
    4. ไต้หวัน
    5. เกาหลีใต้
    6. เอสโตเนีย
    7. ฮ่องกง
    8. แคนาดา
    9. ฟินแลนด์
    10. ออสเตรเลีย

สหราชอาณาจักร ได้อันดับที่ 15 สหรัฐอเมริกา อันดับที่ 16 โดยประเทศยุโรปส่วนใหญ่ผลคะแนนอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 35) บรูไน (อันดับ 42) และมาเลเซีย (อันดับ 52)

Pisa2022

คะแนนเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปี

OECD ระบุว่า ผลคะแนนการทดสอบ PISA ของเด็กนักเรียนไทยประจำปี 2022 พบว่าแย่ลงในทุกทักษะเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในการทดสอบครั้งล่าสุดนี้ คะแนนเฉลี่ยในทุกทักษะของเด็กไทยต่ำที่สุดกว่าการทดสอบครั้งก่อน ๆ นับแต่ไทยเข้าร่วมประเมินเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนในช่วงต้นทศวรรษ 2000

ด้าน PISA ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ว่า สำหรับในประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย

อย่างไรก็ตามผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้ง 3 ด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ

สำรวจคะแนนเด็กไทยตามกลุ่มโรงเรียน

ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ตามสังกัดการศึกษาและกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่า กลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรก

ส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD

จากการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระหว่างนักเรียนกลุ่มสูง (มีคะแนนตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ขึ้นไป) กับนักเรียนกลุ่มต่ำ (มีคะแนนต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) ของประเทศไทยในทั้งสามด้าน พบว่า นักเรียนทั้งสองกลุ่มมีคะแนนเฉลี่ยในแต่ละด้านแตกต่างกันประมาณ 200 คะแนน และเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า

ความแตกต่างของคะแนนด้านการอ่านและด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนที่แคบลง เนื่องจากนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยลดลงมากกว่าของนักเรียนกลุ่มต่ำ

สำหรับนักเรียนกลุ่มช้างเผือก ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) แต่มีคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มช้างเผือกอยู่ 15% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 10% จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ด้อยเปรียบทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมก็สามารถมีผลการประเมินที่ดีได้

นอกจาก PISA จะรายงานผลการประเมินในรูปของคะแนนเฉลี่ยแล้ว ยังรายงานผลเป็นระดับความสามารถในแต่ละด้านซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยที่ระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้

ผลการประเมินครั้งนี้ พบว่า มีนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 32% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 69% ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินสูง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า ญี่ปุ่น จีนไทเป และเอสโตเนีย พบว่ามีนักเรียนมากกว่า 85% ที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป

สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน ประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 47% และ 35% ตามลำดับ ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 76% และ 74% ตามลำดับ

PISA 2022 สะท้อนระบบการศึกษาทั่วโลก

ในภาพรวมของผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับระบบการศึกษาไทยยังมีช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูงกับนักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมาก แม้ในด้านคณิตศาสตร์จะมีช่องว่างดังกล่าวที่แคบลง แต่เป็นผลมาจากนักเรียนกลุ่มสูงมีการลดลงของคะแนนที่มากกว่านักเรียนกลุ่มต่ำ

ดังนั้น จึงควรมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด