กูรูฟินแลนด์มองการศึกษาไทย แนะปรับมุมมอง-ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

ต้องยอมรับว่าการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ติดอันดับต้น ๆ ของโลกมาตลอด เนื่องจากการให้ความสำคัญกับการอ่านออกเขียนได้ของชาวฟินแลนด์ ที่เชื่อว่านิสัยรักการอ่านต้องเริ่มต้นจากที่บ้าน จนเกิดเป็นการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน โดยมีครอบครัว ครูบรรณารักษ์ รวมถึงคนในสังคม ร่วมกันทำให้นิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ พฤติกรรมเหล่านี้จึงถูกส่งต่อมายังเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศ

ฉะนั้นแล้วการสร้างนิสัยรักการอ่าน รวมถึงการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่ประเทศฟินแลนด์ใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ “มูลนิธิไทยคม” ที่เชื่อว่า การอ่านคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ และการสร้างเด็กไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน คือ การสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิไทยคมจึงจัดทำโครงการ “อ่านสนุก สุขใจ ได้ปัญญา” ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 เพื่อมุ่งหวังให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ โดยมีครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเยาวชน อีกทั้งโครงการนี้จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูนักส่งเสริมการอ่าน และมีการจัด “โครงการครูนักส่งเสริมการอ่าน” ควบคู่กัน ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมการอ่านของเด็กประถมศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนทั่วประเทศอีกด้วย

สำหรับโครงการครูนักส่งเสริมการอ่านในปีนี้ มูลนิธิไทยคมได้คัดเลือกครูจาก 40 โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการอ่านสนุก สุขใจ ได้ปัญญา โดยหนึ่งในกิจกรรมของโครงการคือ การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการอ่าน ในหัวข้อ “ถอดรหัสการอ่านแบบฟินแลนด์ นำมาใช้กับโรงเรียนไทยได้จริงหรือ ?” โดย “กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ” นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาในประเทศฟินแลนด์

เพื่อเป็นแนวทางให้ครูได้ต่อยอดกระบวนการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ไปปรับใช้กับโรงเรียนของตัวเอง
เข้าใจถึงเทคนิควิธีการในการกระตุ้นให้นักเรียนอ่านหนังสือ ผ่านการถอดบทเรียนตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการอ่าน การเขียน และการวิเคราะห์ปัญหา ทั้งยังได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์, การสังเคราะห์ และการประเมินค่า เพื่อเป็นการสร้างคุณภาพให้กับเยาวชนไทยในอนาคตต่อไป

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ” เพื่อสะท้อนถึงมุมมองการศึกษาไทย ซึ่ง “กุลธิดา” บอกว่า สิ่งสำคัญของการศึกษาไทยในปัจจุบันที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนนั้นมีหลายเรื่อง โดยกลุ่มแรกที่ควรให้ความสนใจคือเด็กเล็ก ซึ่งต้องคืนเด็กให้กับครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น และสถาบันครอบครัวต้องมีความแข็งแรงมากกว่านี้

“จากข้อมูลสถิติชุดหนึ่งได้มีการระบุว่า ร้อยละ 47 ของเด็กในภาคตะวันตกมีการพัฒนาช้ากว่าวัย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะเรากำลังจะมีเด็กที่มีความสามารถเชิงกายภาพน้อยกว่าผู้อื่น ทำให้การแข่งขันในอนาคตจะเป็นปัญหาอย่างมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะมาจากทั้งครอบครัว ชุมชน หรือการเข้าไปสนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือของภาครัฐที่ไม่ทั่วถึง ตรงนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข”

“ส่วนเด็กโตนั้น ปัญหาที่สำคัญคือการพัฒนากลุ่มที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร ซึ่งในปัจจุบันไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรที่จะพัฒนากลุ่มโรงเรียนเหล่านี้ให้ขึ้นมาเทียบเท่ากับโรงเรียนอื่น ๆ โดยวิธีการอาจจะไม่เหมือนการพัฒนาโรงเรียนใหญ่ ๆ หรือโรงเรียนในเมือง จึงต้องหารูปแบบหรือวิธีการใหม่ ๆ ในการพัฒนาเด็กเหล่านี้”

นอกจากนั้น เรื่องของงานระบบก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการทำให้ระบบราชการ หรือระบบครูมีความคล่องตัวขึ้น ทางภาครัฐจึงต้องพิจารณาว่าควรมีการปลดล็อกเรื่องอะไรบ้าง รวมถึงการแก้ไขวิธีการประเมินทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมานั้นจะเน้นผลประเมินเป็นคะแนน หรือพูดอีกทางหนึ่งคือ เราประเมินผลเพื่อการทำโทษ โดยคนที่ได้ตัวเลขต่ำจะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ท้ายแถว ส่วนคนที่ได้คะแนนสูงก็ไม่มีปัญหา ดังนั้น

การประเมินที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา และคนที่จะประเมินได้ดีที่สุดคือตัวเด็กเอง “อย่างเช่นการประเมินตอนนี้ที่ใช้คะแนนโอเน็ตเป็นตัวตั้ง ส่วนตัวแล้วมองว่า เราต้องมีระบบประเมินอื่น ๆ เพื่อให้เด็กได้มีทางเลือก ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งหมด แต่สามารถเลือกเส้นทางด้านอื่น ๆ ได้ด้วย”

“กุลธิดา” กล่าวย้ำว่า การที่จะพัฒนาการศึกษาไทยให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมถือเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม และหากทุกฝ่ายร่วมมือกันแล้ว ตนเชื่อว่าเป้าหมายทางด้านการศึกษา และกระบวนการเรียนรู้ของเด็กไทยจะก้าวไปอย่างรุดหน้า

“สิ่งที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนว่า แนวคิดการศึกษาคืออะไร มีความหมายอย่างไร และทุกคนมีความเข้าใจอย่างไร โดยต้องมีการปรับทัศนคติให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เช่น โรงเรียนรู้ว่าปัญหาในระบบการศึกษาเป็นแบบนี้ และอยากจะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านั้น โดยมีวิธีการและแผนการดำเนินงานแล้ว แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองกลับไม่เห็นด้วยกับรูปแบบที่โรงเรียนวางไว้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะต้องมีการพูดคุยกันว่าเราจะพัฒนาคนไปเพื่ออะไร และใช้วิธีการแบบไหน”

“การปรับวิธีคิดจะต้องไม่ใช่การสั่งลงมาแบบ top-down แต่ทุกคนต้องเห็นความสำคัญของการศึกษาอย่างแท้จริง และมาร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ทุกคนที่อยู่ในสังคมไทยต้องมีส่วนในการพัฒนาการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งถ้าเราอยากเห็นสังคมแบบไหน ก็ต้องร่วมกันสร้างการศึกษาแบบนั้น”

ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องเข้ามาร่วมกัน เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ