เทรนด์มหา”ลัยไทย นำดิจิทัลตอบโจทย์นิสิต-นักศึกษา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายภาคธุรกิจ อีกทั้งยังสร้างความเปลี่ยนแปลงไปภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย หนึ่งในนั้นคือ ภาคการศึกษาที่หนีไม่พ้นผลกระทบดังกล่าว ถึงแม้จะเกิดขึ้นช้ากว่า แต่จะต้องพากันปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนำดิจิทัลมาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา โดยอาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับใช้วิธีจับมือกับธนาคารกสิกรไทย ด้วยการเปิดตัว CU NEX Applica-tion แอปพลิเคชั่นที่จะเชื่อมโยงทุกมิติการใช้ชีวิตของนิสิต อาจารย์ และบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยการขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเปลี่ยนผ่านสู่ “Chula New Era” หรือ “จุฬายุคใหม่”

ดิจิทัลเชื่อมโยง 3 มิติ

“ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรับตัวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลของจุฬาฯมุ่งเน้น 2 ส่วน คือ หนึ่ง การปรับหลักสูตรให้นิสิตรู้รอบมากขึ้น ไม่ใช่รู้เพียงศาสตร์เดียว และต่อจากนี้นิสิตจุฬาฯจะเรียนรู้ข้ามศาสตร์ได้ สอง การเข้าถึงองค์ความรู้ออนไลน์, และมี learning management system ที่อาจารย์กับนิสิตสามารถพบปะหารือกันได้ทุกที่ทุกเวลา

จนที่สุดมหา”ลัยจึงเฟ้นหาพันธมิตรที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัลเทคโนโลยีดีที่สุดในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนครั้งนี้ จนได้ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยพัฒนา CU NEX ที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยง 3 มิติของจุฬาฯ ได้แก่

หนึ่ง การใช้ชีวิตของนิสิต เป็น digital id แทนที่บัตรนิสิต ทั้งยังใช้ในระบบการลงทะเบียน, การใช้ห้องสมุด, การใช้บริการอาคารสถานที่ และการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังใช้แทนเงินสดด้วย QR payment เพื่อรับคะแนนสะสมแลกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากร้านค้ารอบมหาวิทยาลัย รวมไปถึงเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้จากองค์ความรู้ของทั่วโลก หรือที่เรียกว่า PLEARN Space

สอง การพัฒนาศักยภาพนิสิตและบุคลากร ด้วยกิจกรรมบ่มเพาะความรู้ด้านดิจิทัล จาก KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) ทั้งยังเปิดพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับสถาบันอื่น ๆ เช่น กิจกรรม Tech Jam, MAPS และ ChAMP พร้อมสนับสนุนให้นิสิตมีโอกาสเรียนรู้บนดินแดนแห่งเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Silicon Valley เพื่อก้าวสู่การเป็น startup ที่พร้อมแข่งขันบนเวทีโลก รวมถึงการร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบประมวลผลภาษาไทย (Thai Natural Language Processing-NLP)

สาม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ด้านข้อมูล เพราะในอนาคตมีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของข้อมูลด้านต่าง ๆ ได้แก่ การสร้าง data hub ที่ใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อรวบรวมพฤติกรรมของนิสิต และใช้ business intelligence (BI) วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตร และกิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพนิสิตให้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการจัดการงานเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยี blockchain

จุฬาฯแคแร็กเตอร์

“ศ.ดร.บัณฑิต” กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น จุฬาฯจึงต้องพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนานิสิตให้มีความพร้อมต่อโลกการทำงาน โดยเราจะเปิดสอนหลักสูตร Data Science หรือการเอาข้อมูลในอดีตมาค้นหาแบบแผน เพื่อนำไปใช้ทำนายผลในอนาคต, artificial inteliigence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ ซึ่งจะเปิดในปีหน้า

“ที่สำคัญเราต้องการพัฒนานิสิตให้มีแคแร็กเตอร์แบบจุฬาฯ คือการมีทักษะด้าน competence สมรรถนะที่พึงประสงค์, critical thinking การคิดเชิงวิพากษ์, corroboration การทำงานร่วมกันกับภายในและภายนอกจุฬาฯ ที่สำคัญต้องมีความอดทนในการทำงานให้สำเร็จ รู้จักซักถามข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ได้รับ”

FinTech หนุนการศึกษา

“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรมองเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวในโลกยุคดิจิทัล และต้องการเป็นมากกว่าธนาคาร จึงได้ก่อตั้งกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ที่มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยสู่การเป็นธนาคารแห่งอนาคตแบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

“ภายใต้ความร่วมมือทางด้านดิจิทัลกับจุฬาฯครั้งนี้ เราสนับสนุนโซลูชั่นเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการ การส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลที่ช่วยพัฒนาศักยภาพนิสิตและบุคลากร รวมถึงการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน และการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ”

นับว่าเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของ ธ.กสิกรไทย ในการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มจำนวนลูกค้าภาคการศึกษา ซึ่งปัจจุบันจุฬาฯมีนิสิตเกือบ 4 หมื่นคน แต่ ธ.กสิกรไทยกำลังมองไปถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชั่นให้ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ของศิษย์เก่าด้วย ซึ่งยิ่งจะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้า นอกจากนั้นยังจะขยายไปที่สถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

สร้างไทยเป็น Smart City

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่กำลังมุ่งปรับสู่ดิจิทัล และได้ร่วมกับธนาคารกสิกรเช่นกัน “รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ม.หอการค้ามีความมุ่งมั่นตอบสนองนโยบายภาครัฐในการพัฒนาเมืองไทยให้เป็น smart city จึงพัฒนามหาวิทยาลัยเป็น digital hybrid university ใช้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากธนาคารกสิกรไทยมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักศึกษายุคดิจิทัล

“เราพัฒนาระบบให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสด ใช้แอปพลิเคชั่นนี้ในการสแกนบาร์โค้ดเพื่อชำระค่าอาหารแทน อีกทั้งยังสามารถระบุ และค้นหาสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย โดยใช้ location-based technology ด้านการลงทะเบียน นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียน ทั้งยังมีระบบการแจ้งเตือนตารางเรียน ตารางสอบทางสมาร์ทโฟนของนักศึกษา และการติดต่อสำนักทะเบียนจะง่ายขึ้น เพราะแอปพลิเคชั่นจะรวมระบบแบบครบวงจร เหมือนเป็น all-in-one service เพื่อรับรู้ข้อมูลของมหาวิทยาลัยรวดเร็วยิ่งขึ้น”

จึงนับเป็นยุคที่ภาคการศึกษาต้องหันมาใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ และให้นิสิต-นักศึกษาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ