บูรณาการ ‘ถาปัด’ ชุมชน มหา’ลัยไทย-จีนชุบสงขลาสู่มรดกโลก

อาจเป็นเพราะ “สถาบันอาศรมศิลป์” เป็นสถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็กที่ดำเนินงานในรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม (social enterprise-SE) โดยดำเนินการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท 3 สาขา ได้แก่ ศึกษาศาสตร์, สถาปัตยกรรมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ (ผู้ประกอบการสังคม)

ที่สำคัญ “สถาบันอาศรมศิลป์” ยังนำความเชี่ยวชาญในศาสตร์ทั้ง 3 ด้านมาบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยผนวกความร่วมมือกับเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งใน และต่างประเทศในการจัดทำโครงการเพื่อร่วมสร้างนวัตกรรม จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม

ตลอดเวลาผ่านมามีโครงงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการข้ามศาสตร์ ยิ่งเฉพาะโครงการเมืองเก่าสงขลาที่ทางสถาบันอาศรมศิลป์ และทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขต จ.สงขลาเข้ามาทำโปรเจ็กต์ตั้งแต่ปี 2560 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อช่วยเหลือชุมชนในการทำงานด้านอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมกับชาวบ้านบริเวณชุมชนถนนหนองจิก

จนทำให้เกิดโครงการต่อเนื่องในปีที่ 2 เพียงแต่ครั้งนี้ไม่เฉพาะแต่สถาบันอาศรมศิลป์ และ มทร.ศรีวิชัยเท่านั้น หากยังขยายความร่วมมือไปเชื้อเชิญมหาวิทยาลัยชิงหวา กรุงปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน มาร่วมด้วย

สำหรับเรื่องนี้ “อาจารย์ธิป ศรีสกุลไชยรัก” ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากผู้บริหารของเรามีโอกาสเข้าพบผู้บริหารของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวาเมื่อปลายปี 2560 โดยเราเสนอโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้วยการ joint workshop เรื่องการพัฒนาเมืองเก่า และชุมชนเก่าที่มีเชื้อสายจีนในประเทศไทย

“ปรากฏว่าเมื่อผู้บริหารฟัง เขาก็สนใจ อาจเป็นเพราะนโยบาย และทิศทางของจีนต้องการพัฒนาเส้นทางสายไหมของจีนในศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ กว่า 65 ประเทศ กอปรกับช่วงผ่านมาอาศรมศิลป์ทำงานด้านอนุรักษ์เมืองเก่า และชุมชนเก่าเมืองสงขลามาก่อน เพราะพื้นที่แห่งนี้มีความเชื่อมโยงต่อการย้ายถิ่นฐานของคนจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาอยู่ที่นี่เมื่อ 100 กว่าปีผ่านมา”

“สำคัญไปกว่านั้น ชุมชนเก่าเมืองสงขลายังอยู่ร่วมกันกับชุมชนอื่น ๆ ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงหลอมรวมเข้าหากันอย่างลงตัว ตรงนี้จึงกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงเกิดความสนใจ และพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาความร่วมมือด้านอุดมศึกษาทางสถาปัตยกรรมไทย-จีน”

“อันเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อช่วยผลักดันให้เมืองสงขลาเกิดการรับรู้ที่กว้างขวาง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมระดับสากล ในการพัฒนาไปสู่เมืองมรดกโลกต่อไปในอนาคต”

“อาจารย์ธิป” กล่าวต่อว่ารูปแบบของ joint workshop จึงแบ่งออกมาเป็น 3 พื้นที่คือ การออกแบบสื่อความหมาย และแนวทางการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะบริเวณชุมชนถนนหนองจิก, ชุมชนมุสลิมบ้านบน และบริเวณริมทะเลสาบสงขลา

“แต่ละพื้นที่จะมีนักศึกษาสถาปัตย์ปริญญาตรี, โท จากอาศรมศิลป์ 17 คน, คณะสถาปัตย์ ชั้นปีที่ 3 ปริญญาตรี จาก มทร.ศรีวิชัย 13 คน ขณะที่มหา”ลัยชิงหวา และมหา”ลัยเจ้อเจียงจะมีทั้งหมด 15 คน ซึ่งทุกคนกำลังเรียนปริญญาโทคณะสถาปัตย์ทั้งสิ้น เราก็จะมาคละกลุ่ม คละกรุ๊ป และคละโจทย์ของแต่ละพื้นที่เพื่อทำเวิร์กช็อปร่วมกัน”

“โดยใช้พื้นที่เมืองเก่าสงขลาเป็นพื้นที่กรณีศึกษา เริ่มต้นตั้งแต่การค้นคว้าข้อมูล ซึ่งเราจะให้แต่ละสถาบันไปศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่มี จากนั้นจึงมาถึงขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ ซึ่งนักศึกษาทั้งจาก 4 สถาบันจะมาร่วมเวิร์กช็อปร่วมกันที่ จ.สงขลา พวกเขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมอง และประสบการณ์ในการทำงานทางด้านสถาปัตย์ชุมชนอย่างแท้จริง”

“ต่อจากนั้น พวกเขาจะนำสิ่งที่ตัวเองออกแบบ มาพรีเซนต์ต่อหน้าอาจารย์ของแต่ละมหา”ลัย และต่อหน้าชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ที่เขาลงพื้นที่พูดคุยด้วย เพราะฉะนั้น กระบวนการทำงานจะต่อเนื่อง เพราะหลังจากนั้น พวกเขาต้องกลับมหา”ลัยเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการพรีเซนต์ และระหว่างนี้จะมีการแลกเปลี่ยนคำแนะนำ และให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในระยะ 10 สัปดาห์ ก่อนที่พวกเขาจะเจอกันอีกครั้งที่มหา”ลัยชิงหวาเพื่อนำเสนอผลงานอีกครั้ง”

ถึงตรงนี้ “ผศ.หลั่ว เต๋อ หยี่” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวเสริมว่าผมคิดว่านักศึกษาของเราได้ประโยชน์มาก เพราะกระแสอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณของจีนค่อนข้างนิ่ง ซึ่งการมาสงขลาครั้งแรกของผมครั้งนี้ รู้สึกสดใหม่ ผมว่าพวกเขาคงได้ไอเดียไปทำงานทางด้านออกแบบสถาปัตย์ชุมชนดีขึ้นอย่างแน่นอน

“แต่ผมก็ต้องชมนักศึกษาไทยด้วย เพราะก่อนที่เขาทำงานจะวางแผน พูดคุย เก็บข้อมูล และวาดรูปออกมาดูก่อน ซึ่งแตกต่างจากเรา พอได้ทุกอย่างครบถ้วนจะข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไปเลย ผมว่าตรงนี้เป็นการเปิดวิชั่นให้นักศึกษาของเราเรียนรู้ความละเอียดในการทำงานร่วมกัน”

อันไปสอดรับกับความคิดของ “ศ.เฮ้อ หย่ง” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ที่มองว่าเรื่องของการผสมผสานวัฒนธรรมที่เมืองเก่าสงขลามีความเด่นชัดมากทั้งไทย, จีน, มุสลิม ซึ่งนักศึกษาของเราได้เรียนรู้การผสมผสานอย่างน่าสนใจ อันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน จึงคาดว่านักศึกษาของเราคงได้ประโยชน์จากการทำเวิร์กช็อปครั้งนี้อย่างแน่นอน

ขณะที่ “ดร.ทัชชญา สังขะกูล” หัวหน้าหลักสูตรสาขาวิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) มองว่าตอนแรก ๆ นักศึกษาของเราอาจมีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของกำแพงภาษา เพราะทักษะความสามารถของพี่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาโททุกคน

“แต่พอหลัง ๆ เมื่อพวกเขาแสดงความสามารถในการ drawing เพื่อช่วยเหลือพี่ ๆ ทั้งฝ่ายไทย และจีน ก็ทำให้กำแพงภาษาค่อย ๆ หายไป เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำเวิร์กช็อปครั้งนี้ เพราะนอกจากเขาจะได้วาดรูป ลงสี เขายังพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กของเราเรียนรู้จากพวกเขา โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณ”

เพื่อจะทำงานทางด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในชุมชนต่อไป