“หมออุดม” รับ ม.เกือบหมด วืดรับน.ศ.ครู “ทีแคสรอบ 1” เหตุปรับหลักสูตร 4 ปีไม่ทัน

‘หมออุดม’ รับ มหาวิทยาลัยเกือบหมด วืดรับน.ศ.ครู “ทีแคสรอบ 1” เหตุปรับหลักสูตร 4 ปีไม่ทัน แนะรับก่อน ชงกก.สภาแปลงหลักสูตรทีหลัง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยยขอนแก่น (มข.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ประกาศงดรับนักศึกษาในระบบกลางการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2562 รอบ 1 แฟ้มสะสมงาน รับสมัครระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2561 เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับปรุงหลักสูตรจาก 5 ปีเป็นหลักสูตร 4 ปี โดยจะเริ่มรับนักศึกษาในรอบ 2 รอบโควตาถึงรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ว่า ตามกรอบเวลาการปรับหลักสูตรมหาวิทยาลัยจะสามารถรับสมัครนิสิตนักศึกษาเข้าเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ในการรับสมัครทีแคสรอบ 2 เพราะต้องรอให้ร่างหลักสูตรมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) 1 ระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) และระดับบัณฑิตศึกษาสาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ กำลังดำเนินการ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ประมาณเดือนมกราคม 2562 ก่อน จากนั้นมหาวิทยาลัยดำเนินการปรับหลักสูตร และเสนอให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตร คาดว่าจะทันกับการรับสมัครทีแคสรอบ 2 ระหว่างวันที่ 21 มกราคม – 25 เมษายน 2562 พอดี

“ที่วางไว้ขณะนี้ มคอ.1 จะผ่านความเห็นชอบจาก กกอ.กลางเดือนมกราคม 2562 ซึ่งเท่ากับว่า มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ จะไม่สามารถรับนักศึกษาได้ทันในทีแคสรอบ 1 เกือบทุกแห่ง เพราะต้องรอ มคอ.1 ก่อน ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ผมไม่แน่ใจว่าทำไมถึงทัน ต้องไปถามทางจุฬาฯ” นพ.อุดม กล่าวและว่า ตนขอชื่นชมมหาวิทยาลัย พอนโยบายชัดว่าจะต้องปลับมาสอนหลักสูตรผลิตครู 4 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็เริ่มดำเนินการซึ่งใกล้จะเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการปรับหลักสูตรจาก 5 ปี มาเป็นหลักสูตร 4 ปีไม่ใช่ปัญหา รอเพียง มคอ.1 ผ่านความเห็นชอบจากกกอ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมหาวิทยาลัยที่เปิดรับเด็กเข้าเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ รอบ 1 เด็กที่สมัครต้องเรียนหลักสูตร 5 ปีใช่หรือไม่ นพ.อุดม กล่าวว่า โดยหลักเด็กต้องเรียนหลักสูตร 5 ปี เพราะสมัครก่อนหลักสูตร 4 ปีประกาศใช้ แต่หากมหาวิทยาลัยจะเปิดรับรอบแรกไปก่อนในหลักสูตร 5 ปี แล้วค่อยแปลงเป็นหลักสูตร 4 ปีก็ได้ เพราะการอนุมัติหลักสูตรขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเด็กก็จะเริ่มเรียนพร้อมกันพอดี ตรงนี้เป็นอีกทางออกหนึ่ง ส่วนโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ ครูคืนถิ่นนั้นก็เชื่อว่าไม่กระทบ การปรับหลักสูตรใหม่ ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และงบประมาณต่างๆ สามารถปรับให้เข้ากับโครงการได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์