‘หมอธี’ สั่งสพฐ.ดูข้อมูลควบรวมร.ร.เล็ก นักวิชาการหนุนเชื่อคุณภาพกศ.ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารโลก เสนอแนวทางแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ โดยควรควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งตามแผนจะสามารถลดจำนวนโรงเรียนจาก 30,506 โรงเรียนเหลือ 17,766 โรงเรียน ห้องเรียนจาก 344,009 ห้องเหลือ 259,561 ห้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบุคลากร ซึ่งหากทำได้ตาม จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ซึ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากการลดจำนวนโรงเรียนประถมศึกษาลงจาก 20,990 แห่ง เหลือ 8,382 แห่ง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลได้มากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี โดยเชื่อมั่นว่ามาตรการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้แก่ผู้เรียนเป็นอย่างมาก โดยจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น ทางธนาคารโลกเสนอข้อมูลให้ตนพิจารณามาหลายเดือนแล้ว และตนได้ส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ข้อมูลไปพิจารณาดู ทั้งนี้หากจะดำเนินการจะต้องมีแผนที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำทันที

“อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีการพูดถึงเป็นประจำทุกปี พยายามทำมานานกว่า 30 ปีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องกลับไปถามว่าทำไมถึงทำไม่สำเร็จ สพฐ.จะต้องไปดูว่า มีหลายปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง รวมถึงจะต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมต้องให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษา เสนอเรื่องให้พิจารณา แต่ตอนนี้ไม่มีอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาแล้ว ก็ต้องให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาเสนอเรื่องขึ้นมาให้สพฐ. ดูร่วมกัน “นพ.ธีระเกียรติกล่าว

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดี คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของธนาคารโลก โดยจากข้อมูลขณะนี้เรามีโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศอยู่ประมาณ 1.2-1.5 หมื่นโรงเรียน เกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณ ขณะที่การจัดการศึกษาไม่เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้การควบรวม จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ทำให้ผู้ปกครอง เด็ก ครูและผู้อำนวยการโรงเรียน เดือดร้อน โดยอาจจะต้องมีการจัดรถรับส่งไม่ให้กระทบกับการเดินทาง ส่วนโรงเรียนที่ถูกยุบให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อชุมชนจะได้ไม่รู้สึกว่า โรงเรียนหายไป ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนภูเขา หรือตามเกาะต่าง ๆ ประมาณ 2 พันกว่าแห่งนั้น ต้องคงไว้ เพื่อไม่ให้เด็ก และผู้ปกครองเดือดร้อน

“ปัญหาใหญ่คือ มีครูไม่ครบชั้น ขณะที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามรายหัวเด็ก ทำให้โรงเรียนมีเงินไม่พอใช้จ่าย รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยการดำเนินการอาจไม่ต้องทำพร้อมกันทั้งหมด อยู่ที่การวางแผน โดยอาจทยอยทำเป็นพื้นที่ เริ่มจากโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการโรงเรียนเกษียณอายุราชการก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับตำแหน่ง ส่วนครูก็อาจใช้วิธีให้เลือกย้ายกลับภูมิลำเนาได้ อย่างไรก็ตามผมเองเชื่อว่า การควบรวมหรือยุบรวม มีแนวโน้มจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา “น.ท.สุมิตรกล่าว

 

Advertisment

ที่มา  มติชนออนไลน์