“ดร.เสนีย์” ห่วงการศึกษา จี้รัฐรีเซตระบบก่อนคุณภาพตกต่ำ

ฝุ่นตลบสำหรับธุรกิจการศึกษาในขณะนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชนเปิดศึกแย่งชิง “นักศึกษา” ทั้ง ๆ ที่มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงอย่างมาก กอปรกับนโยบายภาครัฐที่เปิดให้นักศึกษามีทางเลือกสถาบันที่สนใจเข้าเรียนมากขึ้นด้วยระบบ TCAS ซึ่งในภาวะดังกล่าว “ดร.เสนีย์ สุวรรณดี” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และเลขาธิการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จึงฉายภาพให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการการศึกษาไทย

“ดร.เสนีย์” เริ่มต้นด้วยภาพการแข่งขันในธุรกิจการศึกษาที่ส่งสัญญาณชัดเจนจากการที่หลายมหาวิทยาลัยเริ่มทำการตลาดโดยใช้วิธี “ลด-แลก-แจก-แถม” ค่าเทอมราคาถูกเป็นตัวนำ ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงค่าเรียนของมหาวิทยาลัยเอกชนไม่สามารถกำหนดไว้ในราคาที่สูง เพราะต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง จึงอยากให้มองภาพของการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนเพื่อไปพัฒนาประเทศ ฉะนั้น เรื่องการศึกษาควรเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน เพราะจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่คุ้มค่ามาก

ทั้งนี้ มาดูจำนวนของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศเกือบ 200 แห่ง ต้องเรียกว่า “ล้นระบบ” และยังคงเหลือที่นั่งไม่น้อยกว่า 200,000 ที่นั่ง แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร “ดร.เสนีย์” ระบุว่า สถานศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ก่อตั้งไม่ถึง 10 ปี จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก และได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงตามยุทธศาสตร์ที่ทำไปแล้ว คือ 1) การออกไปหาตลาดต่างประเทศเพื่อเติมจำนวนนักศึกษาที่หายไป 2) บางสถาบันที่มีความพร้อมปรับตัวด้วยการปรับพอร์ตหลักสูตรเดิมที่มีอยู่ และมีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้ตอบโจทย์กับโลกอนาคตมากขึ้น โดยมีการทำหลักสูตรด้าน health sciens มากขึ้น ตรงนี้ยังคงเป็นตลาด “บลูโอเชี่ยน” รวมถึงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบิน ระบบราง และช่างซ่อมอากาศยาน ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ที่ภาครัฐสนับสนุน

เมื่อถามว่าการเห็นสัญญาณจากจำนวนเด็กที่ลดลงอย่างมาก แต่บางมหาวิทยาลัยกลับไม่ปรับตัว เป็นเพราะอะไร ? ต่อคำถามนี้ “ดร.เสนีย์” บอกว่า มาจากข้อจำกัด 2 เรื่อง คือ 1) สถานะทางการเงิน และ 2) ที่ตั้งของสถานศึกษาอยู่ห่างไกลจากชุมชนเมือง และไม่มีปัจจัยที่เอื้อให้ปรับตัว และส่งผลต่อการปรับตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“ผมคิดว่าแม้ว่าจะปรับตัวแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายเมื่อมองในมุมเศรษฐศาสตร์ต้องกลับสู่ดุลยภาพ เพียงแต่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ อาจจะ 5 ปี หรือ 10 ปีต่อจากนี้ เพราะวันนี้เราเห็นสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ คือ ผลจากวิกฤตรอบนี้ท้ายที่สุดแล้วต้องหาวิธีให้ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งผมย้ำว่าไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยเอกชนเพียงอย่างเดียว แม้แต่สถาบันของรัฐก็ต้องมีการยุบรวม หรือปิดกิจการ เพราะว่าอยู่ไม่ได้”

หากต้องการพัฒนาคนให้ไปพัฒนาประเทศต่อ จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ “ดร.เสนีย์” บอกอย่างนั้น โดยภาครัฐจะต้องสร้างกลไก และหาแนวทางที่จะช่วยดูแลการศึกษาทั้งระบบอย่างไร ยกตัวอย่าง ในขั้นตอนการทำหลักสูตรใหม่ ๆ แต่กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่เอื้อให้สามารถดำเนินการได้ เช่น การสร้างมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) ที่เข้ามาทำหน้าที่ตั้งระบบมาตรฐานต่าง ๆ แต่ถามว่าเรื่องการศึกษาทั้งระบบ ควรอยู่ภายใต้ต้นแบบเดียวกันหรือไม่

“เดิมทีก็ถูกกำหนดว่า ตำแหน่งอาจารย์จะต้องมีวุฒิตรงตามสาขาวิชาชีพ ในมุมกลับกัน ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ได้รับมอบหมายให้ผลิตบัณฑิต และคนทำงานให้รองรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป้าหมายหลักคือการทำให้เกิด New S-curve ตัวใหม่ แต่เมื่อมองความพร้อมแล้ว ในฐานะที่ต้องสร้างคนทำงาน จึงตั้งคำถามว่าจะนำอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญมากมายมาจากไหน”

ถึงตรงนี้ “ดร.เสนีย์” จึงเสนอว่า สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจะต้อง “แบ่งสนาม” กันเล่น เพราะภาพปัจจุบันที่เห็น คือ ทุกแห่งทำหลักสูตรเหมือนกันหมด ไม่เหลือความเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางการแข่งขันก็อาจจะมี แต่ไม่รุนแรงมากนัก แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวลตามมาคือภาพรวมการลงทุนในธุรกิจการศึกษาไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท จะไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง สิ่งที่จะตามมาอีกคือศักยภาพการแข่งขันของประเทศในอนาคตจะเป็นอย่างไร

“ฉะนั้น วันนี้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องโตไปพร้อมกัน ต้องเปลี่ยนจากระบบกำกับควบคุม มาเป็น “partnership” กันมากกว่า และควรร่วมกันวางแผนงานแก้ไข อาจจะตั้งคณะกรรมการ พร้อมสร้างโครงการนำร่อง ทุกอย่างผมว่าจะต้องเริ่มใหม่หมด ตั้งแต่กระบวนการทำหลักสูตร ในหลักสูตรต้องบอกว่านักศึกษาเมื่อเรียนไปแล้วในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะในอีก 2-3 ปีข้างหน้า บางอย่างตลาดอาจไม่ต้องการ ดีไม่ดีหากเปิดหลักสูตรใหม่ภายในสิ้นปีนี้ อาจจะถูกดิสรัปต์หายไปในช่วงสิ้นปีนี้ก็ได้”

ยิ่งเมื่อมองเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว “ดร.เสนีย์” ยังระบุอีกว่า การอุดมศึกษาที่กำลังสั่นคลอนอยู่นี้ไม่ได้กระทบเพียงแค่ในแวดวงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติด้วย เพราะเมื่อเข้ามาลงทุนในไทย เพราะต้องใช้คนไทยทำงาน แทนการ import โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งต่อจากนี้ในเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประมูลรถไฟความเร็วสูง และอีกหลายโครงการ ถามว่าจะเอาคนทำงานจากที่ไหน นำเข้ามาก็เจ๊ง จะไปขึ้นค่าแรง แต่ถึงเวลาผู้ประกอบการจ่ายได้หรือ โปรดักติวิตี้ต่าง ๆ เกิดจากองค์ความรู้ การสอนและการหล่อหลอมจากมหาวิทยาลัย

“ดร.เสนีย์” ทิ้งท้ายว่า วิกฤตเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ถ้าหากเราได้ฉีดวัคซีนก่อน วันนี้อาจจะเบาบางลง แต่หลายสถาบันก็เลือกขยายวิทยาเขตเพิ่มเติม และที่สำคัญ คือ เปิดรับนักศึกษาจีนเข้ามามากขึ้น สิ่งที่ควรระวังคือการเข้ามาในธุรกิจการศึกษาไทยของนักลงทุนต่างชาติ เราไม่รู้ว่าอนาคตหรือว่าในสุดท้ายแล้ววันหนึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ สิ่งที่กฎหมายไม่ได้ห้ามนั้น จะบริหารจัดการ และรักษาความมั่นคงทางการศึกษาของไทยไว้อย่างไร

“โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพการศึกษา”