ทักษะแรงงานในอนาคต อีก 30 ปี AI แทนมนุษย์เบ็ดเสร็จ

สัมภาษณ์

 

เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว มีทั้งผู้ที่ปรับตัวทัน ไม่ทัน แตกต่างกันตามพื้นฐาน และศักยภาพที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligent) ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น และถือเป็นข้อกังวลของมนุษย์ทำงาน ที่ว่าวันหนึ่ง AI จะมาทำงานแทนมนุษย์ได้ สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต DPU X แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ต้องการเห็นภาพในอนาคตของ AI จะเป็นอย่างไร จึงวิจัยเรื่องทักษะแรงงานในอนาคตของไทย (Skill Set for Future Workforce in Thailand) เพื่อนำผลวิจัยมาวางภาพอนาคตการเรียนการสอนในอนาคต

“ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม” ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และหนึ่งในผู้ร่วมศึกษาวิจัยเรื่องทักษะแรงงานในอนาคตของไทย (Skill Set for Future Workforce in Thailand) ได้เปิดเผยถึงการวิจัยดังกล่าวว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์อย่างมีนัยสำคัญ มีงานวิจัยจากทั่วโลกที่นำเสนอเรื่อง AI รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานมนุษย์ เมื่อ AI สามารถทำงานทดแทนทักษะบางอย่างได้

ในขั้นตอนการศึกษาชุดทักษะแรงงานในอนาคต (Future Workforce) ประกอบด้วย 3 ช่วงเวลาคือ 1) ช่วงพัฒนา AI ระหว่างปี 2020-2029 2) ช่วงทำงานร่วมกับ AI ระหว่างปี 2030-2049 และ 3) ช่วงอยู่กับ AI ระหว่างปี 2050-2060 เพื่อหาคำตอบที่ว่าการทำงานของแรงงานไทยในอนาคตต้องมี skill set อะไรบ้าง

โดยทีมผู้ร่วมวิจัยนอกจาก “ดร.พณชิต” ยังมี “อาจารย์ดวงจันทร์ วรคามิน” ผู้รับผิดชอบหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี และ “ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล” ผู้ชำนาญการอาวุโส ศูนย์บริหารวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งวิธีการศึกษาวิจัย(methodology)ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ เทคนิค Delphi analysis โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเบื้องต้นไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้บริหาร (top visionary) เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อสถานการณ์ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากสถานการณ์ในการศึกษาครั้งนี้อย่างไร

หลังจากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์จากสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลต่อชุดทักษะแรงงานในอนาคตคือปัจจัยด้านการเมือง เช่น ความมั่นคงของรัฐบาล แนวโน้มการออกกฎระเบียบใหม่ นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและวิจัย ฯลฯ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (economic) เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ ต้นทุน ค่าแรง และระดับรายได้ ปัจจัยด้านสังคม (social) เช่น การเติบโตของประชากรและอายุ การเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรม ปัจจัยด้านเทคโนโลยี (technology) เช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ ผลกระทบทางอินเทอร์เน็ต การวิจัยพัฒนา ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (environment) เช่น สภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ รวมถึงภัยธรรมชาติ และปัจจัยด้านกฎหมาย (legal) เช่น กฎข้อระเบียบบังคับต่าง ๆ

ทีมวิจัยได้ขยายความในแต่ละช่วงปีที่แบ่งไว้ว่า ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ปี 2020-2029 เป็นช่วงพัฒนา AI โดย AI ยังไม่เก่งเท่ามนุษย์ เปรียบเสมือนมนุษย์ที่ยังไม่เก่งมาก ยังไม่มีความคิดสร้างสรรค์ จึงสามารถทดแทนแรงงานบางอย่างเท่านั้น ซึ่งในช่วงนี้ทักษะที่จำเป็นสำหรับมนุษย์คือการออกแบบแนวคิด หรือความคิด (design thinking/design mindset) การเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (adaptive thinking) การใช้เทคโนโลยีแบบโมบาย (mobile technology) การทำงานร่วมกันเป็นทีม (collaboration) ในลักษณะ visual โดยทีมไม่ต้องอยู่ในออฟฟิศด้วยกัน ทำงานที่ไหนก็ได้ สิ่งที่ AI ทำไม่ได้คือทักษะในการตัดสินใจเกี่ยวกับความรู้สึก ทักษะด้านการเขียน code และทักษะการใช้ new media

ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ปี 2030-2049 เป็นช่วงการทำงานร่วมกับ AI มนุษย์มีการพัฒนา skill set เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการทำงานใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ทักษะการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้ว่าคนจะทำงานร่วมกับ AI เต็มรูปแบบ แต่ทักษะทางสังคมที่มีผลต่ออารมณ์ของคนก็มีความสำคัญเช่นกัน

ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ปี 2050-2060 เป็นช่วงที่ชีวิตอยู่กับ AI การพัฒนา AI ไปถึงขั้นที่ก้าวหน้าเหนือกว่ามนุษย์เป็นพันเท่า สามารถทำงานทดแทนแรงงานมนุษย์ได้เต็มรูปแบบ ดังนั้น แรงงานมนุษย์ต้องมี skill set เพื่อการใช้ชีวิตที่มี AI ทำงานแทนคน เช่น การทำงานร่วมกันแบบ virtual ที่มีการใช้ programming and consultant เป็นหลัก มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น อาชีพที่ปรึกษาด้านปรัชญา, นักออกแบบห้องเสมือนจริง, นักออกแบบอาชีพ, นักออกแบบเวลาว่าง เป็นต้น

“ดร.พณชิต” กล่าวอีกว่าสำหรับในไทย การเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาดังกล่าวคงมาช้ากว่าต่างประเทศ skill set ที่เกี่ยวข้องกับผู้สร้าง AI เป็นได้น้อยมาก บริษัทผู้สร้าง AI มีน้อย เราจะเป็นผู้ใช้ AI มากกว่า ดังนั้น skill set ของไทยอาจไปได้ไม่ถึงต่างประเทศ ซึ่งทักษะที่ควรจะมีในปัจจุบันนี้ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย creativity ความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจเทคโนโลยี มี soft skills และ analysis skills นำข้อมูลไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ digital skills การใช้เครื่องมือทางดิจิทัล ใช้ AI ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ เช่น ทำ pilot กับลูกค้าที่เป็น accounting finance เข้ามาแล้วสอนให้เขารู้จักใช้เครื่องมือ เขาสามารถนำไปใช้ในการ innovation ในงานได้

สรุปผลการศึกษาเบื้องต้น ถึงแม้ว่างานการศึกษาจากต่างประเทศจะมีการคาดการณ์ทักษะในอนาคตไปยาวไกลในหลายสิบปีข้างหน้า แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ทีมนักวิจัยไปสัมภาษณ์ต่างมีความเห็นว่านับเป็นการคาดการณ์ที่ไกลเกินไป ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ใช้เวลาสั้นมาก ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องทักษะในอนาคตจึงมอง ณ ปัจจุบัน ไปจนถึงช่วงปี 2029 (ช่วงที่ 1 ในการศึกษาของงานศึกษานี้) ทักษะที่จำเป็นในอนาคตสำหรับแรงงานในไทย คือ creativity, digital skills, quantitative analytical, statistical skill and people management skill เป็นต้น

ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่คัญคือองค์กรจำนวนมากยังไม่มีการวางแผน และการลงทุนเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับบุคลากรในหน่วยงาน

ขณะเดียวกัน ถ้าภาครัฐสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางในการทำให้ปัญหา และอุปสรรคเหล่านี้ลดน้อยลง เช่นออกนโยบายเกี่ยวกับการนำค่าใช้จ่ายในส่วนของการ reskill และ upskill มาลดหย่อนภาษี หรือให้เงินสนับสนุนจะทำให้การพัฒนาทักษะแรงงานในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้