ม.เอกชนรุกเปิดสาขาแพทย์ รับสังคมสูงวัย-แก้ปัญหาขาดแคลนหมอ

แพทยสภามั่นใจแผนผลิตแพทย์เพิ่มได้ตามเป้าหมาย ค่าเฉลี่ยแพทย์-ผู้ป่วยลดลง 1 : 800-1,200 มีแพทย์เพิ่ม 1,500 คน/ปี มหา’ลัยเอกชนเห็นโอกาส จ่อเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ ดึงเด็กพลาดสอบมหา’ลัยดัง ช่วยผลิตแพทย์รองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในฐานะคณะกรรมการแพทยสภา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แพทยสภายังคงเชื่อมั่นในแผนผลิตแพทย์ที่ร่วมดำเนินการกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2576 ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศของแพทย์ และผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1 : 800-1,200 จากเดิมที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1 : 2,500 เพราะปัจจุบันมีการพัฒนาแพทย์ จนกระทั่่่งค่าเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ 1 : 1,500 เนื่องจากเริ่มเห็นจำนวนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมาในระบบกว่า 3,000 คน ถือเป็นสัญญาณที่ดี แม้ว่าจะยังขาดแคลนแพทย์อีกกว่าเท่าตัวก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้จำนวนแพทย์ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยได้นั้น มาจาก 1) การกระจายตัวของแผนในปัจจุบันน้อยมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และในหัวเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น 2) เมื่อมีการประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ในขณะที่จำนวนแพทย์ยังคงเท่าเดิม

และ 3) จำนวนของแพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทาง ที่ตัวเลขจำนวนแพทย์ดึงกันอยู่ คือ แพทย์ทั่วไป บางส่วนยังเป็นแพทย์เฉพาะทางได้อีกด้วย ทำให้เท่ากับขาดแพทย์ทั้ง 2 ประเภท รวมถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีการจัดระบบแพทย์ครอบครัว หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คือ แพทย์คนแรกของครอบครัวที่เมื่อเกิดการเจ็บป่วย (first contract) ซึ่งแพทย์ครอบครัวจะได้รับการฝึกฝนที่หลากหลาย (multipurpose) เพื่อให้สามารถดูแล และให้คำปรึกษาสุขภาพของคนในครอบครัวได้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโรค ในลักษณะผสมผสาน ที่มีอยู่ราว 15,000 คนแล้วก็ตาม แต่ยังไม่พอรองรับความต้องการของผู้ป่วย

“ในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างในพื้นที่ภาคอีสาน ประมาณ 1 : 3,000-4,000 คน ถัดมาคือในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีฟ้องร้องจากญาติของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการผ่าตัดแล้ว ผลการพิจารณาคดีของศาลให้ฝ่ายญาติผู้ป่วยชนะคดีไปนั้น ยิ่งทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดต่างส่งเคสผ่าตัดเข้าไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์วิสัญญีโดยเฉพาะ ยิ่งทำให้แพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดขาดแคลนเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งนี้ คาดว่าหากไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา อาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ยังเป็นประเด็นต่อไป และหากประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัย อาจทำให้ไม่มีแพทย์เพียงพอในการดูแลรักษาอย่างแน่นอน”

รศ.นพ.ชาญชัยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาที่ทำให้การผลิตแพทย์ใหม่ออกมารองรับจนใช้ไม่ทันกับความต้องการนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมคุณภาพของแพทย์ตั้งแต่ต้นทาง คือ หลักสูตรแพทยศาสตร์ และการจำกัดจำนวนนักศึกษาแพทย์ในแต่ละชั้นปี เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด เพราะแพทย์เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ และโดยเฉลี่ยแพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรพร้อมเข้าทำงานในระบบมีราว 1,500 คน/ปี แพทย์บางส่วนทำงานในประเทศ ขณะที่อีกบางส่วนศึกษาต่อ และไปทำงานในต่างประเทศ รวมถึงปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในคณะแพทยศาสตร์ค่อนข้างน้อย เพราะมีต้นทุนการเรียนสูง อีกทั้งจำนวนแพทย์ที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ทำให้แต่ละสถาบันการศึกษาขาดแคลนอาจารย์แพทย์ด้วยเช่นกัน

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ที่แพทยสภารับรองว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ของรัฐบาลรวม 20 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น สำหรับสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ของเอกชนในปัจจุบันมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยสยาม และในปี 2563 มีความเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จะเปิดคณะแพทยศาสตร์ เพื่อรองรับนักศึกษาที่พลาดหวังจากการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐ

เบื้องต้น ผศ.วิทยา เบ็ญจาธิกุลรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ได้ลงทุนไปมากกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จะเปิดหลักสูตรแพทย์ โดยเฉพาะหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิตมนุษย์ ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีให้มีความ “ครบวงจร” มากขึ้น จากที่มีสาขาพยาบาล, ผู้ช่วยพยาบาล, เภสัชศาสตร์ และทันตแพทย์ และคาดว่ายังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพเพื่อเตรียมเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์เพิ่มขึ้น รวมถึงหลักสูตรพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้เห็นชอบอนุมัติงบฯผลิตบัณฑิต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสถาบันฝ่ายผลิตแพทย์ รวม 34,838 ล้านบาท พร้อมกับเงินงบประมาณผูกพันอีกราว 58,497 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 93,335 ล้านบาท

คลิกอ่านเพิ่มเติม… เปิด9แนวคิด “การศึกษาในโลกอนาตต” ที่ “ธนินท์” และ “แจ็ก หม่า” เสนอให้คนรุ่นใหม่เรียนจบเร็วขึ้น เพื่อรับมือยุคปัญญาประดิษฐ์