เปิด9แนวคิด “การศึกษาในโลกอนาคต” ที่ “ธนินท์” และ “แจ็ก หม่า” เสนอให้คนรุ่นใหม่เรียนจบเร็วขึ้น เพื่อรับมือยุคปัญญาประดิษฐ์

หลังจาก “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างกระแสเสนอแนวคิด “ลดจำนวนปีการเรียนในระบบการศึกษา” ให้จบมหาวิทยาลัยที่อายุ 18 ปี จากปกติที่เรียนจบที่อายุประมาณ 21-22 ปี โดยเป็นการให้สัมภาษณ์นอกรอบ ในช่วงที่เขาไปปราฎตัวขึ้นเวที “Forum for World Education” ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2562

การจัดงานครั้งนี้ กำหนดหัวข้อ “รูปแบบการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทศวรรษหน้า” โดยเวทีนี้ได้เชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจและทุกภาคส่วนระดับโลก เช่น ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี, แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา และ เดวิด ครุกแชงก์ ประธานบริษัท ดีลอยท์ แห่งสหราชอาณาจักรร่วมเวทีพร้อมกับนักการศึกษา คณบดี อธิการบดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในหลายประเทศเข้าร่วมเพื่อหาแนวทางการศึกษาแห่งอนาคต

ADVERTISMENT

ในงานนี้นอกจาก “ธนินท์” จะได้รับเชิญขึ้นเวที รับฟังการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Progress, challenges and opportunities ของ “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริหารบริษัท อาลีบาบากรุ๊ปแล้ว เขายังได้ร่วมสะท้อนความคิดเห็นด้านการศึกษา ซึ่งหลายเรื่องเขาเห็นตรงกับ “แจ็ก หม่า โดยเฉพาะ “การเรียนนอกตำรา” ผ่านการ “ลงมือทำ”

โดย “แจ็ก หม่า” กล่าวบนเวทีปาฐกถาที่ปารีสว่า เด็กควรเรียนจบให้เร็วขึ้น จะได้มีโอกาสทำงานพร้อมกับการเรียนรู้ชีวิตไปด้วย เพื่อให้เข้าใจชีวิตจริง เรียนรู้จากปัญหาจริงๆ เพราะวันนี้การเรียนในระดับอุดมศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันในหน้าที่การงานอีกต่อไป อาลีบาบากรุ๊ปไม่ได้จ้างคนที่เพราะเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือเอ็มไอที แต่จ้างบุคลากรที่มีความพร้อมจะเรียนรู้ มีความต้องการการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ บุคลากรที่เราจ้างงาน คือ คนที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ได้จ้างเพียงเพราะเขามีปริญญาหรือมีวุฒิการศึกษาขั้นสูง เพราะทันทีที่คุณเรียนจบได้รับวุฒิการศึกษาแล้ว นั่นก็หมายความว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่คุณต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของคุณเอง

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่ “ธนินท์” เห็นว่า ทำไมจึงเสนอให้ลดจำนวนปีการเรียนในระบบการศึกษาลง โดยเห็นว่า การลงมือทำคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เขามีแนวคิดอยากให้เด็กไทยเรียนจบมหาวิทยาลัยที่อายุ 18 ปี แล้วทำงานได้เลย โดยลดจำนวนปีลงจากระบบการศึกษาปกติประมาณ 4 ปี เพราะเป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ต้องเร็วแบบมีคุณภาพ โดยเขายกกรณีให้เห็นว่า สถาบันผู้นำเครือซีพี ที่เขาก่อตั้งขึ้นนั้น ใช้เวลา 3-6 เดือน ในการสร้างคนให้ทำงานและบริหารจัดการเป็นผู้จัดการได้ สามารถทำงานสร้างกำไรได้ แต่นั่นคือเชิงธุรกิจ หากมองในฝั่งนักวิชาการ มหาวิทยาลัย หรือภาคการศึกษาก็ควรจะต้องเร็วเช่นเดียวกัน

ADVERTISMENT

เขามองว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันใช้เวลามากเกินไป ช่วงอายุ 18 ปี คือวัยที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้แสดงศักยภาพมากเท่าที่ควร แต่หากเป็นความรู้เฉพาะทางให้ไปศึกษาต่อตามที่จำเป็น แต่การศึกษาปริญญาตรีขั้นพื้นฐานควรลดจำนวนปีเหลือที่ 18 ปี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงในสังคมแห่งการทำงาน

ADVERTISMENT

น่าสนใจตรงที่มหาเศรษฐีเบอร์ต้นของประเทศเจ้าของอาณาจักรแสนล้านที่มีพนักงานทั่วโลก 3 แสนคน มองถึงอนาคตในการทำงานไว้ว่า “ความรู้ของเรา ประสบการณ์ของเรา มันใช้กับสมัยใหม่ไม่ได้ ยุคก่อนอาจทำได้ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่แล้ว มันกำลังเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ”

เขาเชื่อว่า คนยุคใหม่ฉลาดมากขึ้นเราจึงต้องสนับสนุนให้เขาเรียนจากสังคม

แนวคิดจบปริญญาตรีอายุ 18 ปี ของ “ธนินท์” แม้ไม่ได้ถูกเสนอให้เสียงดังฟังชัดบนเวทีใหญ่ในการประชุม “Forum for World Education” แต่เนื้อหาสาระบางอย่างที่เขาได้พูดบนเวทีในที่ประชุมก็มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน

เราลองมาดู “สรุป” แนวคิดด้านการศึกษาของ “ธนินท์” แห่งซีพี และ “แจ็ก หม่า” แห่งอาลีบาบา บนเวที “Forum for World Education” ที่ปารีสกัน โดยเว็บไซต์ข่าวทางการของเครือซีพี www.cp-enews.com รวบรวมเนื้อหาไว้ โดยเราขอสกัดเนื้อหามาสรุปเสนอให้เห็นภาพเปรียบเทียบ 2 แนวคิดด้านการศึกษา ซึ่งมีส่วนที่คล้ายคลึง หรือแตกต่างกันที่จุดไหน มาดูกัน

9 มุมมองด้านการศึกษาแห่งอนาคตของ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

1.แก่นแท้ที่ดีที่สุดต้องสร้างอาจารย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด การที่จะสร้างอาจารย์ให้ได้เยี่ยมที่สุด ก็ต้องให้เกียรติเขามากที่สุด ให้รายได้ที่มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้คนเก่ง ๆ ในสังคมหรือในโลกนี้ต้องการที่จะหันมาประกอบอาชีพครูหรืออาจารย์

2.เราต้องสอนให้เด็กใจกว้าง อดทน และเรียนรู้ตลอดเวลา

3.ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดหาครูที่มีความรู้ความสามารถมาใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนทางไกลให้กับนักเรียนและผู้คนในชนบท เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้

4.การศึกษาก็เหมือนกับธุรกิจ ต้องมีการปรับตัว และต้องพิจารณาว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร

5.เรายังต้องเรียนรู้เทคโนโลยีจากซีกโลกตะวันตก ต้องยอมรับการศึกษาในซีกโลกตะวันออกยังสู้ไม่ได้ เพราะการเป็นนักธุรกิจต้องนำเทคโนโลยีที่ดี ๆ ของทั่วโลกมาใช้

6.การศึกษาที่แท้จริง คือ ต้องได้ไปสัมผัสของจริง เผชิญปัญหาจริง ยิ่งได้เผชิญปัญหาและแก้ไขปัญหาได้มากเท่าไร นั่นจึงเรียกได้ว่าเป็นของจริง แล้วถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วย ถึงจะเรียกว่าสามารถประยุกต์ใช้ความรู้แท้จริง เพราะการอ่านแค่ในหนังสือไม่ได้ทำให้ได้เรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาได้แท้จริง

7.ก่อนที่การเรียนการสอนจะมีการวางหลักสูตรใหม่ ต้องศึกษาวิจัยความต้องการในโลกยุคนี้ก่อน พิจารณาว่าลักษณะบุคลากรหรือหน่วยงานใดที่บริษัทยังขาดแคลน ต้องมองตลาดความต้องการในระดับโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะต่อไปในอนาคตโลกจะไร้ขอบเขตคนไทยไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ในประเทศไทยเท่านั้น

8.การเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราต้องลงมือไปปฏิบัติจริงไปสัมผัสของจริง ไม่ยึดติดกับการสอนรูปแบบเดิมในห้องเรียน แต่ต้องไปสัมผัสของจริง การศึกษาที่ดีต้องสร้างคนที่ไปทำงานได้จริงไม่ใช่เรียนแต่หนังสือ

9.การศึกษาตลอดชีวิตนั้นคนรุ่นเก่าเองก็ต้องใจกว้าง และต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ด้วย และต้องให้คนรุ่นใหม่ได้ทำเรื่องใหม่ อาทิ แจ็ก หม่า เป็นผู้ที่รู้จักใช้เทคโนโลยีจากโลกตะวันตกมาสร้างธุรกิจในจีน ทั้งที่เขาไม่ได้รับการศึกษาจากซีกโลกตะวันตกเลย

9 มุมมองด้านการศึกษาแห่งอนาคตของ “แจ็ก หม่า”

1.ครูเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะวางพื้นฐานการศึกษา ครูเก่งต้องไปสอนในโรงเรียนที่ขาดโอกาสมากกว่าจะสอนในโรงเรียนที่มีนักเรียนเก่งแล้ว เด็กต้องได้เรียนกับครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นและมั่นใจ ดังนั้นอาชีพครูต้องดึงคนเก่งเข้ามา สนับสนุนส่งเสริมด้านรายได้

2.ต้องสร้างเนื้อหาการศึกษาที่ถูกต้องเพื่อรองรับอนาคต ที่เป็นโลกของการทำงานกับหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาทำงานแทนมนุษย์ในส่วนงานที่เป็นตรรกะและงานที่คงที่ จึงจำเป็นต้องวางเนื้อหาการสอนใหม่ ฝึกให้เด็กมีความคิดเชิงวิเคราะห์

3.สอนให้เห็นรู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ก สอนให้รู้จักโลกความจริง รู้จักการแก้ปัญหา จึงต้องให้ความสำคัญการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กในระดับชั้นอนุบาล ประถม มัธยม

4.ต้องเปลี่ยนดัชนีวัดการเรียนรู้ของเด็กใหม่ ไม่ใช่แค่การทำแต่ข้อสอบ แต่ต้องทำให้เด็กรู้ว่าเขาเรียนหนังสือไปเพื่ออะไรในอนาคต ให้เขารู้เป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่เรียนเพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย

5.ต้องสอนให้เด็กเป็นคนที่ไม่หยุดเรียนรู้ การเรียนรู้จากสังคมและการทำงาน ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ดังนั้นการวางหลักสูตรการเรียนการสอนต้องเร็ว และให้ความรู้ใหม่ สถานศึกษาต้องเชื่อมโยงกับบริษัท สำรวจตลาด ต้องพิจารณาว่าอนาคตจะผลิตบุคลากรแบบไหนเพื่อสอดคล้องกับตลาด

6.เด็กควรเรียนจบให้เร็วขึ้น จะได้มีโอกาสทำงานพร้อมกับการเรียนรู้ชีวิตไปด้วย เพื่อให้เข้าใจชีวิตจริง เรียนรู้จากปัญหาจริงๆ เพราะวันนี้การเรียนในระดับอุดมศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันในหน้าที่การงานอีกต่อไป อาลีบาบากรุ๊ปไม่ได้จ้างคนที่เพราะเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือเอ็มไอที แต่จ้างบุคลากรที่มีความพร้อมจะเรียนรู้ มีความต้องการการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ บุคลากรที่เราจ้างงาน คือ คนที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ได้จ้างเพียงเพราะเขามีปริญญาหรือมีวุฒิการศึกษาขั้นสูง เพราะทันทีที่คุณเรียนจบได้รับวุฒิการศึกษาแล้ว นั่นก็หมายความว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่คุณต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของคุณเอง

7.การศึกษาในอนาคต ต้องสอนให้คนรุ่นใหม่มีหัวใจ เราอาจรู้ว่าการมีไอคิว (ความฉลาดทางสมอง) และอีคิว (ความฉลาดทางอารมณ์) เป็นสิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญในอนาคต ต้องสอนให้เด็กมี แอลคิว หรือที่เรียกว่า The Q of Love ที่เป็นความฉลาดทางจิตใจ สิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่สังคมโลก และการทำงานในวันข้างหน้าจะมีหุ่นยนต์ออโตเมชั่น เครื่องจักรเหล่านี้มีเพียงชิปส์ แต่ไม่มีความคิดจิตใจเฉกเช่นมนุษย์ ดังนั้นหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์นี่เองที่จะทำให้เราเป็นผู้มีปัญญาญาณ (wisdom) ที่แท้จริง

8.การเรียนการสอนในอนาคตต้อง โฟกัสไปที่แนวคิดโลกไร้พรมแดน Global Vision เช่น แทนที่จะสอนเรื่องราวเส้นแบ่งเขตแดนที่ซับซ้อน แต่ควรสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงความแตกต่าง เพื่อจะได้มีความเคารพต่อโลก เคารพความแตกต่าง เคารพทุกศาสนา เคารพทุกวัฒนธรรม เด็กทุกคนควรได้เรียนสิ่งเหล่านี้ และนี่คือคำตอบของการศึกษาโลก เพื่อให้เด็กได้เข้าใจ เรียนรู้และให้เกียรติผู้อื่น

9.สอนให้พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ดังนั้นวิชาบังคับที่ควรให้เด็กได้เรียน คือ วิชาศิลปะ กีฬา เต้นรำ เป็นต้น

เป็นการสกัด 9 มุมมอง 9 แนวคิด ของนักธุรกิจผู้คร่ำหวอด ซึ่งมองทิศทาง “การศึกษา” ที่ควรจะเป็นในอนาคต

ผู้สนใจอ่านปาฐกถาฉบับเต็มของ “แจ็ก หม่า” และอ่านเนื้อหาการร่วมสัมมนาของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ในงาน “Forum for World Education” ที่กรุงปารีส สามารถติดตามได้ที่ www.cp-enews.com

“แจ็ก หม่า” โชว์วิสัยทัศน์ ปฏิรูประบบการศึกษาโลก รับมือโลกยุคดิจิทัล
> http://www.cp-enews.com/news/details/cpinternal/3480

ประธานอาวุโสซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์” ขึ้นเวทีพร้อม “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป ร่วมเสนอวิสัยทัศน์การศึกษาแห่งอนาคตมุมมองของภาคธุรกิจ

> http://www.cp-enews.com/news/details/cptalk/3483