มองภาพธุรกิจ “การศึกษา” เดินเกมหั่นค่าเทอม-จองตัวเด็ก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แวดวงการศึกษาต่างได้รับผลกระทบจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ระดับ 30-50% กระทบต่อสถาบันการศึกษาในทุกระดับ อีกทั้งพฤติกรรมของนักเรียน-นักศึกษาที่เปลี่ยนไป ลดระดับความสำคัญการเรียนในมหาวิทยาลัยลง และให้น้ำหนักไปที่การเรียนรู้จากการทดลองทำจริง และที่สะท้อนในเชิงธุรกิจให้เห็นภาพชัดเจน คือ การขายกิจการมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน ที่ต้องการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสใช้ศักยภาพของไทยในการรองรับนักศึกษาจีนที่พลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไม่ได้ เข้ามาเรียนที่ไทย โดยเฉพาะในหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น

เริ่มที่มหาวิทยาลัยเกริก ที่ขายกิจการให้ บริษัท หมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น ของนายฉางหมิง ในปี 2561 ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด โดย บริษัท ไชน่า หยู่ฮว๋า เอ็ดดูเคชั่น อินเวสเมนท์ (Chaina YuHua Education Investment) ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในขณะเดียวกันยังมีมหาวิทยาลัยอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 แห่งที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับนักลงทุนทั้งชาวไทยและนักลงทุนจากประเทศจีน ซึ่งทั้ง 2 มหาวิทยาลัยต่างให้เหตุผลของการซื้อขายกิจการไปในทิศทางเดียวกันว่า “ขาดสภาพคล่อง” ทางการเงิน เพราะรายได้หลักของมหาวิทยาลัย 80% คือ ค่าเทอมของนักศึกษา แน่นอนว่าเมื่อนักเรียนน้อยลง นั่นหมายถึงว่ารายได้จะปรับ “ลดลง” ตามไปด้วย

แต่กว่าจะมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจขายกิจการนั้น มหาวิทยาลัยที่ต้องเผชิญปัญหาต่างต้อง “ปรับตัว” ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการรัดเข็มขัด ลดต้นทุนที่ไม่มีความจำเป็น ฯลฯ แต่ใช่ว่าการปรับตัวเหล่านี้จะใช้ได้ผลกับทุกมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละสถาบันการศึกษาต่างมี “ข้อจำกัด” มาเป็นตัวแปรสำคัญด้วย ข้อจำกัดที่ว่า คือ สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่ไม่สะดวกในการเดินทางมาเรียน ทำให้ความน่าสนใจของนักศึกษาลดลงด้วย

ภายหลังจากดีลการซื้อขายมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ดผ่านไป แวดวงการศึกษาต่างจับตามหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความเสี่ยงอาจต้องขายกิจการตามมาอีกเป็นระลอก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีที่ตั้งในเส้นทางไปสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และในมหาวิทยาลัยที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้ ในปี 2563 นี้ อาจได้เห็นภาพการขายกิจการมหาวิทยาลัยที่กระจายตัวมากขึ้นแม้แต่มหาวิทยาลัยของรัฐอย่างเช่น สถาบันเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชมงคล และมหาวิทยาลัยราชภัฏที่อยู่ในพื้นที่ตามจังหวัดต่าง ๆ อาจต้องควบรวมสถาบัน หรือเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกันในแง่ของการจัดหลักสูตรร่วมกัน โดยใช้จุดแข็งที่ต่างคนต่างมีเข้ามาเสริมกัน อาจมีความเป็นไปได้

จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยปรับตัวท่ามกลางการแข่งขัน คือ 1) หั่นราคาค่าเทอม ลดราคาสู้กัน ในรูปของ “ทุนการศึกษา” ตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท และ 2) พัฒนาหลักสูตรที่ตลาดแรงงานต้องการเป็นหลัก เช่น แพทยศาสตร์ พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล และหลักสูตรที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก คือ เทคโนโลยีดิจิทัล โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงความพร้อมและศักยภาพที่มีอยู่ รวมถึงมีมหาวิทยาลัยชื่อดังเปิดหลักสูตรเหล่านี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในแวดวงการศึกษามองว่า 3) การรุกหลักสูตรออนไลน์ ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ในบางสาขาที่มีความต้องการ และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่และวัยทำงานที่ต้องการเพิ่มทักษะการทำงานตามพัฒนาการของเทคโนโลยี

การแข่งขันในตลาดการศึกษาปี 2563 นั้นจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเมื่อลองสำรวจในแต่ลtมหาวิทยาลัยแล้ว ต่างยังคงใช้การลด-แลก-แจกและแถม และการให้ทุนการศึกษา รวมถึงขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อแนะแนวการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของตัวเอง อธิบายง่าย ๆ คือ การจองตัวเด็กล่วงหน้านั่่นเอง

การซื้อขายกิจการในแง่ของธุรกิจอาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับการซื้อขายกิจการมหาวิทยาลัยนั้น คนในแวดวงการศึกษาค่อนข้าง “กังวล” โดยเฉพาะประเด็น “คุณภาพหลักสูตร” ที่ถูกตั้งคำถามว่า หากนักลงทุนจีนเข้ามาถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว ผู้บริหารฝ่ายไทยสามารถเข้ามาดูแลเรื่องคุณภาพของหลักสูตรได้หรือไม่ จากคำถามดังกล่าว หน่วยงานกำกับดูแลอย่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ สั่งระดมตั้งทีมจับตาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงแจงว่า ยังไม่เกิดปัญหาตามที่มีข้อกังวลในขณะนี้

สุดท้าย หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามองว่า การหลั่งไหลของนักศึกษาจีน แม้จะช่วยทดแทนส่วนของนักศึกษาที่หายไปจากระบบได้บ้าง แต่ต้องมีเครื่องมือ มาตรการ หรือกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลไม่ให้กระทบต่อการศึกษาไทย โดยเฉพาะในประเด็น “คุณภาพ” รวมไปจนถึงประเด็นการแข่งขันในธุรกิจการศึกษาที่อาจจะฟาดฟันกันอีกนาน และจะเหลือเพียงมหาวิทยาลัยที่มีสายป่านเงินยาวเท่านั้นที่อยู่รอด ฉะนั้นภาครัฐควรป้องกันไว้ก่อน ดีกว่ามาแก้ปัญหาภายหลัง