‘สุวิทย์’ ปลุกนักลงทุน ต่อยอดจุดแข็ง-สร้างองค์ความรู้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในงานสัมมนา “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย”ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บรรยายพิเศษด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงเข้ากับการศึกษา ระบุว่า ภาคการศึกษาที่เป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ ด้วยการให้สถาบันระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏที่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จะต้องเป็นอีกฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศ ไปจนถึงในการเชื่อมโยงเข้ากับ platform ใหม่ ๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 เรื่องหลัก คือ 1) ความท้าทายประเทศไทย : เรากำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน 2) เหลียวหลังแลหน้า : โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทย และ 3) BCG Model : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

“ดร.สุวิทย์” ระบุว่า ในปี 2020 นี้ในประเด็นความท้าทายของประเทศ คือ จะทำอย่างไรให้ภาคการเกษตรที่สินค้ามีความผันผวน เกษตรกรรายได้ต่ำทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมและแรงงานภาคเกษตรที่มีอายุมากขึ้นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปจนถึงการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ เพราะในแต่ละปี 60% ของพลังงานที่ใช้ในประเทศมาจากการนำเข้า และ 15.5% ของพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศมาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ จากความท้าทายเหล่านี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องมีการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น ไม่ลงทุน “ไม่ได้” ทั้งในแง่ของการลงทุนจากภาครัฐด้านระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และการลงทุนโดยภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างองค์ความรู้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามสิ่งที่เรียกว่า “กับดัก” ใน 3 เรื่อง คือ รายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความไม่สมดุล ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามจากระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพการผลิต (efficiency driven economy) ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (innovation driven economy) ที่จะเป็น growth engine ที่พาก้าวข้ามกับดักต่าง ๆ ไปได้ และผลักดัน GDP ของประเทศให้ขยับเพิ่มขึ้นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องนำ BCG Model : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน” เมื่อมองกลับไปในอดีตประเทศไทยใช้เวลาถึง 23 ปี เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3% ฉะนั้น การจะเพิ่มความมั่งคั่งถึง 2 เท่าจากเดิม หรือตัวเลขของ GDP ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6% ก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 ปี

“สิ่งที่เราจะลงทุนต่อจากนี้ไป คือ ต้องคิดใหม่ มันเป็นการลงทุนเชิงคุณภาพ ไม่ใช่การลงทุนเชิงปริมาณอีกต่อไป เป็นการลงทุนที่สร้าง people power ไม่ใช่แค่เพียงเรื่อง market power ยังต้องสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้งประเทศ ซึ่งส่วนนี้ก็ยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วย”

สำหรับ BCG Model ที่ว่านั้น ดร.สุวิทย์ บอกว่า B คือ bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ C คือ circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G คือ green economy เศรษฐกิจสีเขียว ทั้ง 3 ส่วนถูกถักทอเป็นเรื่องเดียวกัน ขณะนี้ประเทศกำลังขับเคลื่อนไปสู่ศตวรรษที่ 21 จึงจำเป็นต้องมีกรอบความคิดใหม่ (new mental model) Thailand 4.0 ดูเหมือนเป็นนามธรรม ส่วนรูปธรรมได้นั่นคือกรอบของ BCG ที่จะทำให้ประกาศศักดาในเวทีโลกได้ และตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืน sustainable development goals หรือ SDGs ของสหประชาชาติ และยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากันกับเศรษฐกิจพอเพียงได้อีกด้วย

“จริง ๆ แล้วไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้มีอะไรมาก เป็นแค่การเหลียวหลังแลหน้า ที่มองดูว่าวันนี้ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักอย่างน้อย 3 กับดัก จึงจำเป็นต้องมี new growth engine ที่จะต้องไม่ใช่แค่ productive growth engine ที่ทำให้เกิด value creation แต่ต้องเป็น inclusive growth engine ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศมีโอกาสมารับผลประโยชน์ พร้อมกันนั้นต้องเป็น growth engine ที่บาลานซ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้ ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก”

“ดร.สุวิทย์” ยังเน้นย้ำในเรื่องของการลงทุน ว่าต้องลงทุนในแง่ของการสร้าง “องค์ความรู้” เพื่อนำไปสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าที่สูงขึ้น นอกเหนือจากนี้การลงทุนจะต้องเน้นไปที่ “คุณภาพ” มากกว่าปริมาณ และลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ ในส่วนของการลงทุนทางธุรกิจจะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสำหรับประเทศไทยการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจะต้องใช้ “จุดแข็ง” ของประเทศ แบ่งเป็นอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร สุขภาพและการแพทย์ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่อประเมินจากจุดแข็งเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าที่สูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของ GDP อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่า ภายใน 5 ปีจะสามารถขยับขึ้นมาเป็น 4.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP รวมถึงเกิดการจ้างงานที่ 20 ล้านคน

“ทั้ง 4 เซตเตอร์นี้คือจุดแข็งของประเทศ ที่นอกเหนือจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เราต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในก่อนที่เราจะไปเชื่อมโยงกับโลก เรามีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เรามีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วย”

ดร.สุวิทย์ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า หน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะต้องผนึกกำลังกันเป็น “จตุภาคี” ตั้งแต่ความร่วมมือกับระดับชุมชน บวกกับพลังความรู้ของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย เครือข่ายองค์กรจากต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก จะต้องตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนให้ได้