ภารกิจด่วนแม่ทัพ “อว.” แก้บัณฑิตตกงาน-ต่อยอดวิจัยสู่สากล

เอนก เหล่าธรรมทัศน์

รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” โดย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงภารกิจที่ต้องเร่งแก้ไข และสานต่อจาก “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รวมไปจนถึงแนวคิดที่นำมากำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ขยับชั้น และเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมต่อยอดในอนาคต

“ทุกปัญหาของวงการศึกษาคือเรื่องเร่งด่วน”

“ดร.เอนก” กล่าวในเบื้องต้น พร้อมฉายภาพแนวคิดที่จะใช้เป็นกรอบของการแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาการศึกษาของไทยว่าคือ “อว.” จะต้องเป็นกระทรวงที่นำงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติพร้อมทั้งพัฒนาคนให้เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ สถาบันในระดับอุดมศึกษาจะต้องสอนคนเพื่อไปทำงานได้จริง เน้นงานที่เพิ่มมูลค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้สูงขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขเฉพาะหน้านั้น “ดร.เอนก” บอกว่า ตามที่หลายองค์กรมีการคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานมากกว่า 3-8 ล้านคนนั้น ในจำนวนนี้จะมีบัณฑิตที่จบการศึกษาอยู่ที่ประมาณ250,000 คน หรือในกรณีที่ได้งานทำก็อาจจะเป็นงาน “ต่ำกว่า” ความรู้ที่มีปัญหาเหล่านี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ อว.จะต้องเร่งดำเนินการ โดยของบประมาณจากกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

“คาดว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยแต่ละกระทรวงจะต้องจัดทำโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับปัญหา โดย อว.จัดทำโครงการในรูปแบบของการพัฒนาทักษะ (reskill-upskill) รวมระยะเวลา 1 ปี และสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยพร้อมกัน ภายใต้โครงการดังกล่าว สิ่งสำคัญที่จะต้องมีคือความร่วมมือจากภาคเอกชนที่อาจจะเป็นนายจ้างของบัณฑิตจบใหม่ในอนาคตด้วย”

Advertisment

“ในประเด็นนี้พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บรรเทาการตกงานให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยหลักการของโครงการจะนำผู้ตกงานมาฝึกฝนรวม 1 ปี และเมื่อเรียนจบออกไปจะมีการการันตีให้ว่าได้งานทำอย่างแน่นอน ก่อนหน้านี้มีการสำรวจนำร่องไปว่าผู้ประกอบการต้องการคนทำงานที่มีทักษะอย่างไร จนถึงขณะนี้ทีมงานยังคงเดินสายหารือกับภาคเอกชนต่อเนื่อง รวมถึงเก็บข้อมูลหรือประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะ อว.มองว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ที่จะมีคนตกงานเป็นล้านคน ปัญหาเหล่านี้ทุุกฝ่ายต้องใช้ศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่มาแก้ปัญหา”

“ดร.เอนก” บอกอีกว่า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการ อว.ได้นำร่องโครงการในรูปแบบนี้ไว้แล้วเพื่อรองรับบัณฑิตตกงานราว 10,000 คนเท่านั้น ในขณะที่เป้าหมายของ อว. ในขณะนี้อยู่ที่ 2-3 แสนคน และหากดำเนินการได้มากกว่าเป้าหมายก็จะดีมาก ๆ และเร็ว ๆ นี้เตรียมนำเสนอรายละเอียดโครงการไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และของบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดคาดว่าจะใช้งบประมาณที่ 1 หมื่นล้านบาทในเบื้องต้น โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวง อว.เป็นประธานคณะทำงานภายใต้โครงการนี้ด้วย

นอกเหนือจากโจทย์ใหญ่คือการลดจำนวนบัณฑิตจบใหม่ให้ตกงานน้อยที่สุดแล้ว ยังมีโจทย์ที่ท้าทายตามมาอีกคือ การผลักดันงานวิจัยของประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงดันเรื่อง “ความพอเพียง” ของชาติใน 3 เรื่องคือ 1) อาหาร ลดการพึ่งการนำเข้าอาหาร 2) การวิจัย และพัฒนายาการป้องกันโรคระบาด ทำวัคซีน ผลิตยาฆ่าเชื้อ ซึ่งในขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และในเร็ว ๆ นี้ ประเทศจะมีการพัฒนายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ จากนี้ประเทศจะมุ่งไปที่การพึ่งพาตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายอย่างเช่นวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19

ในส่วนประเด็นเรื่อง “งานวิจัย” นั้น”ดร.เอนก” บอกว่าที่ผ่านมางานวิจัยมักขึ้นหิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และอุปสรรคสำคัญที่ทำให้งานวิจัยของประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมายในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุมาจากหลายปัจจัยคือ 1) ความล่าช้าในการดำเนินการตามขั้นตอนของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การจัดซื้อ จัดจ้างและการอนุมัติงบประมาณให้การวิจัยและพัฒนาที่ค่อนข้างล่าช้ามาก

Advertisment

2) ปลดล็อกกลไกพร้อมทั้งส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีให้ลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้ต้องมีกลไกแซนด์บอกซ์เข้ามาช่วย ควรลงลึกเป็นรายพื้นที่ ให้ได้รับการ “ยกเว้น” ในประเด็นอุปสรรคต่าง ๆ

และ 3) อาจจะต้องออกกฎหมายให้ผู้รับทุนเพื่อทำงานวิจัย “เจ้าของผลงานวิจัย” ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ว่าผู้รับทุนไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของผลงาน ทำให้ไม่มีกำลังใจที่จะผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพเข้ามาในระบบ และใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ “ดร.เอนก” ได้มอบหมายให้ “ศักรินทร์ ภูมิรัตน์” เป็นประธานคณะกรรมการในการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานวิจัยของประเทศ พร้อมทั้งเชิญ “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาร่วมแก้ไขกฎหมายด้วยเนื่องจากการแก้ไขกฎหมายจะต้องให้กรอบเวลาไปว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากนี้ และอาจมีบางเรื่องที่สามารถทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยประเมินก่อนมอบทุนวิจัย นำโปรแกรม PMU (programe management unit) เป็นโปรแกรมสำหรับบริหารทุนด้านวิจัย ที่สามารถรวบรวมหน่วยงาน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาไว้ในที่เดียวกัน จะทำให้เห็นภาพของการวิจัยได้ง่ายขึ้น

และเมื่อมองถึงขีดความสามารถในการวิจัยและเทคโนโลยีของประเทศ “ดร.เอนก” ระบุว่าไทยอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองแค่เพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น ในขณะเดียวกันถือว่ายังเหนือกว่ามาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปินส์ ไม่เท่านั้น

“ดร.เอนก” ยังเปรียบเทียบให้เห็นอีกว่าประเทศไทยขณะนี้ถือว่าอยู่ในลีกเอเชียอาคเนย์ และควรจะต้อง “อัพเกรด” ให้เข้ามาอยู่ใน “ลีกเอเชียตะวันออก” ที่มีประเทศจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งถือว่าเป็น “ลีกระดับโลก”

แต่การจะไปถึงลีกระดับโลก จะต้องอาศัยกำลัง สติปัญญา มิตรภาพจากมิตรประเทศเอเชีย ใช้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มาช่วยกันสร้าง และทำให้เกิดความพอเพียงทวิภาคีเกิดขึ้นได้อีกด้วย

ในช่วงท้าย “ดร.เอนก” ยังฉายภาพศักยภาพของไทยคือแล็บด้านจุลินทรีย์ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นแล็บดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากชนิดของจุลินทรีย์ในไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก เรียกได้ว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก สามารถดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ทางด้านชีวเคมีเข้ามาร่วมวิจัยให้ทุนในการวิจัย แม้กระทั่งเรื่องของ “ดาราศาสตร์” เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2538 มีนักศึกษาจากธรรมศาสตร์เรียนจบด้านนี้เพียง 3 คน เพราะหลายคนมองว่าวิชาดาราศาสตร์ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์

“แต่ปัจจุบันที่นวัตกรรมล้ำหน้าไปมาก เรายังพบว่าดาราศาสตร์เป็นมารดาของศาสตร์อื่น ๆ เป็นจำนวนมากเหมือนเป็นวิทยาศาสตร์ของจักรวาล และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆให้เกิดขึ้นตามมาอีก ขณะเดียวกัน อาจต้องเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันที่มีอยู่ราว 19,000 ล้านบาท/ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าอย่างมั่นคง”