“สาธิตฯพระจอมเกล้าฯ” สานฝันเด็กไทยสร้างหุ่นยนต์แห่งความยั่งยืน

ปฏิเสธไมได้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ โดยเฉพาะในภาคการศึกษาที่ต้องเป็นจุดแรกเริ่มในการบ่มเพาะและผลิตทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มีทักษะและความพร้อมในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อเนื่องถึงการสร้างนักวิจัย นักคิด นักประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อก้าวสู่โลกแห่งอนาคต อย่างไรก็ตามการพัฒนาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ในด้านเดียวอาจยังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาทักษะความคิดด้าน “ความยั่งยืน” นั่นคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องสร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนำไปใช้สร้างความยั่งยืนให้กับสังคมได้จริง สอดคล้องกับแนวพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการคิดค้นวิทยาการประยุกต์ และนี่คือโจทย์สำคัญของของประเทศชาติที่จะต้องผลิตบุคลากรสู่ปลายทางและสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้อย่างสูงสุดแท้จริง

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า การศึกษาในปัจจุบันจำเป็นต้องลงทุนการพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับการการส่งเสริมให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในยุคที่เทคโนโลยีและดิจิทัลกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต

“โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าจึงได้ตระหนักถึงการบ่มเพาะและปลูกฝังองค์ความรู้ที่เน้นเรื่องความก้าวหน้า ผ่านระบบการเรียนการสอนแบบสะตีม (STEAM) ตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกามาเป็นหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนเกิดความฉลาดรู้ ความเข้าใจ และมุมมองใหม่ๆที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมตอบสนองประโยชน์สุขของสังคมอย่างยั่งยืนด้วยการผสมผสานองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาอย่างรอบด้าน”

โดยตามแนวทางการประยุกต์องค์ความรู้โรงเรียนยังได้บรรจุหลักสูตร STEM With Robotics ซึ่งเป็นหลักสูตรการสอนที่มีหุ่นยนต์เป็นสื่อกลางการเรียนวิชา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ พัฒนาการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญจาก คาร์เนกี เมลลอน มหาวิทยาลัยด้านนวัตกรรมอันดับหนึ่งของโลกและเพิ่งเกิดขึ้นที่นี่เป็นที่แรกของประเทศไทย ให้เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญและมีทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมช่วยให้เกิดศักยภาพทางกระบวนการความคิดที่สำคัญใน 5 รูปแบบ คือ

1.การคิดอย่างสร้างสรรค์พร้อมถ่ายทอดสู่การสรรค์สร้างผลงาน 2.การคิดแก้ปัญหาในกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งแบบทีมและแบบรายบุคคล 3.การคิดตั้งคำถามภายใต้ความอยากรู้อยากเห็นเพื่อให้เกิดการทดลอง การตีความใหม่ ๆ และกระบวนการวางแผนทำงานอย่างเป็นลำดับขั้น 4.การคิดค้นวิธีการที่แตกต่างหรือนอกเหนือจากทฤษฎี เพื่อให้ทราบและเกิดวิธีการดำเนินงานที่ดีที่สุด และ 5.การคิดอย่างอิสระและการจินตนาการเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ พร้อมพัฒนาสู่สิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นและใช้จริงได้ในสังคม รวมถึงยังมีการสอดแทรกและผสมผสานรูปแบบการเรียนการสอนที่บ่มเพาะให้เยาวชนเป็นนักนวัตกรรมที่มีแก่นแท้ของการพัฒนาสังคมที่มีความสมดุล และเกิดการนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชด้าน “ความยั่งยืน” ที่องค์การสหประชาชาติเองก็กำลังกระตุ้นให้ทั่วโลกคำนึงถึงด้านดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

โดยผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่โรงเรียนได้แสดงให้เห็นคือผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนในโรงเรียน ได้แก่ ผลงาน Multicore Cable Fit-Outing Robot หรือหุ่นยนต์เดินสายสาธารณูปโภคใต้ดิน และผลงาน Aquabot หรือหุ่นยนต์เพื่อการปลูกปะการังเทียม ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากโครงการในพระราชดำริอันจะนำมาซึ่งความสมดุลและยั่งยืนของโลก โดยผลงานดังกล่าวยังได้เข้าร่วมแข่งขันบนเวที World Robot Olympaid Thailand 2017 (WRO) ซึ่งเด็กนักเรียนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ และยังจะเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าสู่การแข่งขัน โอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับโลก (WRO 2017) ณ เมืองซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกาในลำดับถัดไป

โลกในวันนี้หมุนเร็วกว่าที่เคยเป็นมา และเชื่อว่าอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า โลกกำลังจะผลัดไปสู่ยุคที่วิถีชีวิตของทุกสรรพสิ่งต้องพึ่งพิงและผูกขาดกับเทคโนโนโลยีอัจฉริยะ นวัตกรรม และระบบดิจิทัล ดังนั้นการเกิดขึ้นของโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าถือเป็นมิติใหม่ของสถาบันการศึกษาไทย ที่จะนำร่องเปลี่ยนกลวิธีและหลักสูตรการเรียนที่พุ่งเป้าไปสู่การผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดผู้นำด้วยการส่งเสริมรายวิชาและกิจกรรมที่จะเป็นแนวทางในการสร้างฐานแห่งการผลิตนักคิด นักประดิษฐ์นวัตกรรม ตลอดจนนักวิจัยที่มีความสามารถ