บ.กลาง-ใหญ่จ่อเข้าตลาด-

โบรกเกอร์ประสานเสียงหุ้นไอพีโอปีนี้สดใสต่อเนื่อง ดันบริษัทไซซ์กลาง-ใหญ่ ลุยแผนระดมทุน ด้าน บล.กสิกรไทย เล็งนำ 4 บริษัทยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต.กลางปีนี้ เล็งเข้าเทรดช่วงกลางปีหลัง มั่นใจปีนี้ครองแชมป์สมัยที่ 3 ฟาก APM ขน 5-6 บริษัทเข้าทั้ง SET และ mai ทิสโก้ส่ง 3 บริษัทต่อแถว รอจังหวะตลาดหุ้นดีหนุน ส่งซิก มี.ค.ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นกระดึบ ๆ เกาะติดสถานการณ์เลือกตั้ง

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ สานงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไอพีโอในปีนี้จะยังคงความคึกคักอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากบริษัทหลายแห่งยังต้องการระดมทุนอยู่จำนวนมาก โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่มีความต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯกว่า 10-12 บริษัท ซึ่งภายในปีนี้น่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จำนวน 4 บริษัท ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจรีเทล, โลจิสติกส์, ไฟแนนซ์ และวัสดุก่อสร้าง

“หุ้นไอพีโอยังมีเสน่ห์ เนื่องจากความต้องการนักลงทุนยังมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณตลาดไอพีโอคึกคักมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่มักจะมีการยื่นไฟลิ่งจำนวนมากขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.ของทุกปี เพราะต้องรองบฯปีของบริษัทนั้น ๆ ออกมาก่อน ซึ่งในส่วนลูกค้าของบริษัทจะยื่นไฟลิ่งในช่วงเดือน พ.ย.-มิ.ย.นี้ ประมาณ 4 บริษัทเช่นกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะลุ้นเข้าเทรดได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้” นายแมนพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับ 4 บริษัทที่จะยื่นไฟลิ่งในปีนี้ จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ (มูลค่าการระดมทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป) จำนวน 2 บริษัท และบริษัทขนาดกลาง (มูลค่าการระดมทุนประมาณ 3,000-8,000 ล้านบาท) จำนวน 2 บริษัท ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการระดมทุนรวมใกล้เคียงกับปีก่อนที่ทำได้ 15,882 ล้านบาท พร้อมคาดหวังว่าจะรักษาแชมป์บริษัทที่มีมูลค่าการระดมทุนของหุ้นไอพีโอ (ไม่นับรวมกองรีทและกองทุน IFF) มากที่สุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันนับจากปี 2559

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแม้ปัจจุบันบริษัทที่อยากเข้าตลาดหุ้นยังมีอยู่จำนวนมาก แต่หากเป็นบริษัทขนาดใหญ่เริ่มหาได้ค่อนข้างยากแล้ว ซึ่งแนวโน้มส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางมากขึ้น และคาดว่าเทรนด์การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นภายในปี 2563 ซึ่งบริษัทที่จะเข้าระดมทุนอาจเปลี่ยนเป็นบริษัทขนาดกลางลงไปมากขึ้น

ขณะที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่าอุตสาหกรรมเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก คือ กลุ่มท่องเที่ยว, ค้าปลีก และเฮลท์แคร์ (เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ) โดยระดับพีอีของกลุ่มท่องเที่ยวสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งราว 36.5 เท่า รองลงมาคือกลุ่มค้าปลีก และเฮลท์แคร์ที่อยู่ระดับ 35.5 เท่า และ 34.6 เท่าตามลำดับ

“อย่างไรก็ตาม ปีนี้เรามองว่าใกล้เลือกตั้ง เศรษฐกิจในประเทศก็น่าจะสะพัดโดยเฉพาะการบริโภค เราจะกลับมาโฟกัสที่กลุ่มค้าปลีก, เฮลท์แคร์, กลุ่มบริการ และโลจิสติกส์ เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นเทรนด์ระยะสั้นในช่วง 1-2 ปี ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบต่อหุ้นไอพีโอของปีนี้ อันดับแรกคือ การเมืองภายในประเทศ รองลงมาคือนโยบายกีดกันการค้าของผู้นำสหรัฐ และทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะดึงเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับได้ และอาจมีผลกระทบต่อจังหวะการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยได้” นายแมนพงศ์ กล่าว

นายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทโปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM กล่าวว่า ตลาดไอพีโอในปีนี้มีทิศทางสดใสต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ก็ได้มีการเตรียมตัวในการยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. และขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯกันอย่างต่อเนื่อง

โดยในส่วนของบริษัท คาดว่าจะมีลูกค้าบริษัทที่จะเข้าระดมทุนได้ประมาณ 5-6 บริษัท ซึ่งกระจายในหลายธุรกิจ อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร, อาหาร, ไอที และค้าปลีก ซึ่งจะเป็นบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 3 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) 3 บริษัท

นายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวว่า มีแผนจะนำบริษัทลูกค้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปีนี้เช่นกันจำนวน 3 บริษัท ซึ่งจะเข้าในตลาดหุ้น SET ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาวะตลาดหุ้นที่อาจมีความผันผวนค่อนข้างมาก ก็อาจกระทบต่อการเข้าระดมทุนของหุ้นไอพีโอบ้าง ซึ่งแต่ละบริษัทก็ควรเลือกจับจังหวะการเข้าตลาดให้ดี

นายไพบูลย์กล่าวในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนว่า ขณะที่ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกินกว่า 55.6% มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบขาขึ้น (sideway up) โดยมีโอกาสขึ้นราว 5-6% จากช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นปี และอีก 29.6% มองว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวก ขณะที่ 14.8% มีมุมมองต่อตลาดในทิศทางลบ ขณะที่ประเมินว่าดัชนีภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 1,818 จุด ส่วนภาพรวมของดัชนีเคลื่อนไหวในช่วงระหว่างปี นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดการณ์ว่า “จุดต่ำสุด” ของดัชนีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,727 จุด ส่วน “จุดสูงสุด” อยู่ที่ 1,910 จุด ภายใต้คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยหุ้นละ 111.53 บาท ขยายตัว 11.7% ส่วนค่าพีอีเฉลี่ยที่ระดับ 16.5 เท่า

นายกีรติ โกสีย์เจริญ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือน พ.ค. 2561) อยู่ที่ระดับ 143.09 ซึ่งลดลง 8.70% จากเดือนที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองถึงความชัดเจนของวันเลือกตั้ง และมองนโยบายทางการเงินของสหรัฐที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3-4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุด ในขณะที่ปัจจัยหนุนที่สำคัญจากความเชื่อมั่นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตดี

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้