เงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.00-35.65 บาท/ดอลลาร์

กรุงศรี-เงินบาท

กรุงศรีคาดสัปดาห์นี้เงินบาทซื้อขายในกรอบ 35.00-35.65 บาท/ดอลลาร์ เงินทุนไหลเข้าหนุนบาทแข็ง จับตายอดค้าปลีกสหรัฐ

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (15-19 ส.ค.) ว่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.22 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 35.16-35.84 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bp สู่ระดับ 0.75% โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีตามคาด

เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังข้อมูลบ่งชี้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐทรงตัวในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้นในอัตรา 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจาก 9.1% ในเดือนมิถุนายน และน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ ส่งผลให้ตลาดสัญญาล่วงหน้าเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50bp ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายน แทนที่จะขึ้น 75bp อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เฟดยังคงสื่อสารในทิศทางที่ต้องการดูแลภาวะเงินเฟ้ออย่างเข้มงวดต่อไป

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 14,431 ล้านบาท และ 8,487 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคมของสหรัฐและรายงานการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 26-27 กรกฎาคม โดยคาดว่ายังคงมีความไม่แน่นอนสูงแม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้วก็ตาม

ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิสกล่าวว่า ถึงแม้การชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมถือเป็นเรื่องน่าพึงพอใจ แต่เฟดยังห่างไกลมากจากการประกาศชัยชนะ ทางด้านประธานเฟดสาขาชิคาโกให้ความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าจะรับได้และเฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยสู่ 3.25-3.50% ในปีนี้ และ 3.75-4.00% ก่อนสิ้นปี 2566

อนึ่ง กรุงศรีคาดว่าแม้ข้อมูลจะสะท้อนเงินเฟ้อชะลอตัวแต่ท่าทีของเฟดอาจช่วยจำกัดแรงเทขายดอลลาร์ในเวลานี้ได้เช่นกัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะจับตารายงานจีดีพีไตรมาส 2/65 ขณะที่ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจึงมีความจำเป็นน้อยลง โดยกรรมการ 1 ราย สนับสนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ขณะที่การสื่อสารของทางการที่ต้องการปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับมุมมองของกรุงศรีที่ว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25bp ไปอีกสักระยะ