จับตาราคาสินค้าเพิ่มต่อเนื่อง “อมรเทพ” คาดปลายปี กนง. ปรับดอกเบี้ยเป็น 1.25%

เศรษฐกิจไม่ถดถอย

ดร.อมรเทพ ชี้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อต่ำ 1-2% อาจใช้เวลา จับตาราคาสินค้าเพิ่มต่อเนื่อง หากเศรษฐกิจโต 4% คาดปลายปี’65 กนง.ปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.25% ชูโมเดลแฝดสยาม “กลุ่มแข็งแรงต้องดูแลแฝดอ่อนแอ”

วันที่ 7 กันยายน 2565 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า มองว่าเงินเฟ้อไทยอาจจะถึงจุดสูงสุด หรือใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว และน่าจะใกล้ปรับลดลง ทั้งราคาพลังงาน และอื่น ๆ ซึ่งหวังว่าสงครามรัสเซียและยูเครนจะไม่บานปลายในช่วงปลายปี 2565 นี้ จนทำให้ราคาพลังงานวิ่งกลับขึ้นไปสูงได้

อย่างไรก็ดี มองว่าเรื่องเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่อาจจะไม่ได้ลดลงต่ำ จนคาดว่าปี 2566 จะเห็นตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ระดับ 1-2% ซึ่งกว่าจะลงไปได้จนถึงจุดนั้นอาจจะยังต้องใช้เวลาอยู่

ดร.อมรเทพ จาวะลา
ดร.อมรเทพ จาวะลา

นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันเป็นปัญหาอุปทาน ไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแรงงาน ขาดวัตถุดิบ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทำให้ราคาสินค้าสูง ซึ่งเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาในขณะนี้ ต้นทุนผู้ประกอบการก็ปรับขึ้นมาแล้ว 20-30% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นมา 7-8% แต่ว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่สะท้อนต้นทุนที่ขยับขึ้น ระยะต่อไปหากเศรษฐกิจเติบโตได้ 4% นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น จะเริ่มเห็นการขยับของราคาสินค้าต่อเนื่องได้ แต่การขยับราคาสินค้าอุปสงค์ ไม่ได้รุนแรงเท่าฝั่งอุปทาน

“เงินเฟ้อแบบนี้ธนาคารกลางประเทศทั่วโลกก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเกิดขึ้นนี้ น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% โดยดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐยังเร่งขึ้นต่อเนื่อง จะทะลุ 4% ไปได้ในช่วงปลายปี ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของประเทศไทย ก็เชื่อว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 2 ครั้ง จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุกครั้ง โดยปลายปีนี้จะเห็นเป็น 1.25% และปีหน้าอาจจะเห็น 1.75% ซึ่งยังขึ้นต่อได้ แต่อาจจะไม่ได้ขึ้นแรงเท่าสหรัฐ”

ทั้งนี้ หากตลาดมีความชัดเจนมากขึ้น ค่าเงินบาท ก็จะใกล้ถึงจุดพีค หมายความว่า หากสหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง สุดท้ายจบรอบการขึ้นแรง หรือขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ขึ้นช้าลง เงินทุนก็จะไหลกลับมาลงทุนในบ้านไทยได้ เพราะโอกาสการลงทุนในประเทศไทยยังมี ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รายได้ท่องเที่ยว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะเห็นได้ในปี 2566 หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น จึงคาดว่าโอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าเทียบเท่าดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี 2565 ยังมี แม้ระหว่างทางมีความผันผวน

ดร.อมรเทพกล่าวว่า ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ถึง 4% แต่ก็ยังมีกลุ่มที่สามารถเดินหน้าไปได้ และกลุ่มที่ยังตะเกียกตะกายเอาตัวรอด โดยมีการมองรูปแบบเศรษฐกิจเป็นโมเดลแฝดสยาม คือ 2 คน เป็นฝาแฝดตัวติดกัน และก็มองว่าทั้งคู่โตได้ 4% แต่จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจไทยแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือแฝดที่แข็งแรง แต่อีกฝั่งหนึ่งอ่อนแอ โดยแฝดที่แข็งแรง ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว บรรยากาศการท่องเที่ยวดีกว่าช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ไม่ได้เติบโตได้หมด ซึ่งมีบางกลุ่มพอไปได้ และต้องปรับตัว ฉะนั้น มีบางกลุ่มที่อาจจะยังไม่สามารถปรับตัวได้ จึงต้องมาดูว่าแต่ละอันยังมีความเหลื่อมล้ำ ต่อมาคือ กลุ่มอุตสาหกรรม โดยฟื้นได้เต็มที่ต่อเนื่องไปถึงปี 2566 คือ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

หากมองต่อไปในอนาคตประเทศที่สำคัญขาดแคลนอาหารและวัตถุดิบเนื่องจากสงคราม และอื่น ๆ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จุดนี้ ทั้งไก่ สินค้าเกษตร เป็นต้น แต่หากเป็นกลุ่มประมงก็อาจจะไม่ดีนัก เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยสนับสนุนเครื่องยนต์การส่งออกตั้งแต่ครึ่งหลักของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566

ขณะที่ฝั่งแฝดที่อ่อนแอ และต้องดูแล เช่น ภาคเกษตร เผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโจทย์สำคัญในการดูแลแฝดที่อ่อนแอ เพื่อขับเคลื่อนแฝดที่แข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีเศรษฐกิจท่องเที่ยว ซึ่งกรุงเทพฯ และภูเก็ตกลับมาดีขึ้น แต่เมืองรองการท่องเที่ยวคงไม่ได้กระจายตัวทุกจังหวัด ซึ่งกำลังซื้อค่อนข้างอ่อนแอ กลุ่มที่เกี่ยวกับภาคบริการในต่างจังหวัดก็ค่อนข้างอ่อนแอ รวมถึงกลุ่มที่ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยียาก ฉะนั้น ต้องไปดูแลกลุ่มนี้ เพื่อให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน เพื่อไม่กระทบการฉุดกำลังซื้อของแฝดกลุ่มที่แข็งแรง และอื่น ๆ