ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยันขึ้นดอกเบี้ยตามสถานการณ์ พร้อม “หยุด-ขึ้นแรง” หากจำเป็น

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ แจงต้องขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป ชี้ความเสี่ยง “เงินเฟ้อ” เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นต่อเนื่อง ยันพร้อมปรับตามสถานการณ์ “หยุด-ขึ้นแรงมากกว่า 0.25%” ก็ได้หากจำเป็น มั่นใจไทยไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป ชี้เป็นไปตามบริบทของประเทศ

วันที่ 7 กันยายน 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ เรื่อง “บทบาทนโยบายด้านการเงินในการกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย” ว่าการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ ต้องให้น้ำหนักการดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่ ธปท.เน้นย้ำก็คือ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาตามสถานการณ์ ซึ่งพร้อมหยุดหากจำเป็นต้องหยุด และพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นหากจำเป็น

นอกจากนี้ ก็ต้องคำนึงถึงการออกมาตรการที่เหมาะสม มีความเฉพาะเจาะจง เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางไปด้วย “จะจูนกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจดูเหมือนกับว่าต้องหยุด (ขึ้นดอกเบี้ย) สักช่วง เราก็จะทำ หรือสถานการณ์เศรษฐกิจดูแล้วต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% อาจจะ 0.50% หรืออะไรก็ว่าไป เราก็จะทำ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของไทยที่ถูกวิจารณ์ว่า อาจจะขึ้นดอกเบี้ยช้าไปหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ช้าไป เนื่องจากประเทศอื่น ๆ เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในจุดที่เศรษฐกิจของประเทศกลับมาขยายตัวได้ในระดับก่อนเกิดโควิดแล้ว ขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่เริ่มขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาโตได้ในระดับก่อนโควิด ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโตได้ในระดับก่อนโควิดในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

“ขอยืนยันว่า ไม่ช้า ถามว่าทำไม ถ้าเราดูทุกประเทศที่เริ่มขึ้นดอกเบี้ย อังกฤษ สหรัฐ หรือเกาหลี มาเลเซีย ที่อยู่ใกล้บ้านเรา เพราะจีดีพีเขากลับมาระดับก่อนโควิดแล้ว เราเป็นประเทศเดียวที่เริ่มขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ทั้งนี้ แม้จะเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อเหมือนกัน แต่บริบทเงินเฟ้อของไทยกับประเทศอื่น ๆ ก็ไม่เหมือนกัน โดยเงินเฟ้อในต่างประเทศมาจากฝั่งอุปสงค์ค่อนข้างมาก จากการที่เศรษฐกิจฟื้นแรง และภาคแรงงานมีความต้องการแรงงานสูง แต่ไทยยังฟื้นช้าแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น นโยบายที่จะใช้ไม่ควรเหมือนกัน

“โจทย์ของเราคือ จะทำอย่างไรให้การเทกออฟของเศรษฐกิจสมู้ด (มีความราบรื่น) เพราะเราเพิ่งเริ่มฟื้น ส่วนของต่างประเทศที่เศรษฐกิจโตร้อนแรงไปแล้ว โจทย์ของเขา คือ ทำไงให้เป็นซอฟต์แลนดิ้ง” ดร.เศรษฐกิจพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า สำหรับอนาคต ธปท.จะพยายามปูรากฐานนโยบายให้เอื้อต่อการก้าวต่อไปข้างหน้า เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปอย่างสง่า ซึ่งมี 2-3 เรื่องต้องคำนึงถึง โดยต้องเกาะกระแสของโลก ได้แก่

1.กระแสดิจิทัล ที่ต้องทำให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยี ซึ่งต้องสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง โดย ธปท.ได้ออกภูมิทัศน์ทางด้านการเงินมาในช่วงที่ผ่านมา

“หน้าที่เรา เราต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพ นวัตกรรมบางอย่างอาจจะสร้างประโยชน์ ไม่ใช่ทุกนวัตกรรมที่ดีที่สร้างประโยชน์ ก็ต้องบาลานซ์ หาจุดสมดุล อะไรที่ไม่สร้างประโยชน์ และสร้างความเสี่ยงก็ไม่เอา เช่น การนำคริปโตเคอร์เรนซี มาใช้ชำระเงิน เป็นต้น” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

2.ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น ทันการณ์ โดย ธปท.จะมีการออกเกณฑ์มาในช่วงปีหน้า เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปฏิบัติ

3.หนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาที่อยู่มานาน เพิ่มขึ้นมาในช่วง 10 ปีก่อน ซึ่งไม่มียาวิเศษ ต้องแก้อย่างยั่งยืน ต้องใช้เวลาในการแก้ โดย ธปท.ก็พยายามดู และออกหลาย ๆ มาตรการมา เช่น คลินิกแก้หนี้ หรือที่ช่วงตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้ไปถึง ต.ค.ก็จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ มี 50 สถาบันการเงินมาร่วม

และ 4.การลงทุน เพราะประเทศจะก้าวต่อไปได้อย่างสง่า ต้องมีการลงทุน ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยโตแผ่ว ๆ สู้ประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ หลัก ๆ เพราะการลงทุนไทยไม่ค่อยฟื้น เมื่อเทียบจากช่วงวิกฤตปี 2540 ที่การลงทุนลดลงไป จากนั้นใช้เวลาเกือบ 20 ปี ถึงการลงทุนจะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตปี 2540

“ถ้าเราจะก้าวไปอย่างสง่า เครื่องยนต์นี้ ต้องทำให้ติดให้ได้” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว