เงินบาทกลับมาอ่อนค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ค่าเงินในภูมิภาค

เงินบาท-หุ้นไทย

เงินบาทพลิกอ่อนค่าผ่านระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ ฟื้นตัวกลับจากแนวโน้มการคุมเข้มด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด SET Index ปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า กระแสเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ของอังกฤษ ยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจจีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 38.00 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง สอดคล้องกับแรงเทขายสกุลเงินเอเชียในภาพรวม ขณะที่เงินดอลลาร์ ขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์ของสหรัฐ หลังจากที่ข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐ เดือน ก.ย. ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดหนุนการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุม FOMC เดือน พ.ย.นี้

นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

สกุลเงินเอเชียและเงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ ขยับเพิ่มช่วงบวกได้จากสัญญาณเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐ ของเจ้าหน้าที่เฟด ประกอบยังมีแรงหนุนจากการเป็นสกุลเงินปลอดภัย หลังจากที่ IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลงมาที่ 2.7% ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน สถานการณ์โควิดในจีน และการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐ

กราฟค่าเงินบาท

Advertisment

ในวันพุธที่ 12 ต.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 38.04 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 ต.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 10-12 ต.ค. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,784 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflow ออกจากตลาดพันธบัตร 9,837 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 8,068 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,769 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (17-21 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 37.50-38.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค และการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือน ต.ค. ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ย. และรายงาน Beige Book

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ของอังกฤษ ยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจจีน ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/65 การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือน ก.ย. รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีนด้วยเช่นกัน

Advertisment

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่อง แต่ยังไม่หลุดกรอบ 1,500 จุด ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ย.ของสหรัฐ เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์

ประกอบกับเผชิญแรงขายลดเสี่ยงก่อนวันหยุดยาวของตลาดหุ้นไทย รวมถึงก่อนการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ และบันทึกการประชุมเฟด สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นไทยเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งหุ้นที่ถูกเทขายกระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะไฟแนนซ์ วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

กราฟตลาดหุ้นไทย

ในวันพุธ (12 ต.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,560.78 จุด ลดลง 1.20% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50,938.28 ล้านบาท ลดลง 20.45% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.64% มาปิดที่ระดับ 631.31 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,530 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/65 ของ บจ. รวมถึงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่ และยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย. ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ก.ย. ของจีน อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร