กม.ใหม่สรรพสามิต “ฝุ่นจาง” 4 เดือนแรกรายได้ทะลุเป้า

สัมภาษณ์

หลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อ 16 กันยายน 2560 โดยช่วงแรกเรียกว่า “ฝุ่นตลบ” ปั่นป่วนเกือบทุกกลุ่มสินค้า ขณะนี้ย่างเข้าเดือนที่ 5 ของการบังคับใช้กฎหมายใหม่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” อธิบดีกรมสรรพสามิตคนใหม่ ที่เข้ามารับไม้ต่อ เมื่อ 1 ตุลาคม 2560 ถึงผลการบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมา

โดย “กฤษฎา” กล่าวว่า ต้องให้เครดิตอธิบดีคนก่อนที่วางหลักการกฎหมายใหม่ ซึ่งมี 4 ประเด็น คือ “เป็นธรรม-โปร่งใส-เรียบง่าย-มีประสิทธิภาพ” ทั้งการทำให้กระบวนการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้ผลิตในประเทศกับผู้นำเข้าอยู่บนฐานเดียวกัน และเปลี่ยนฐานภาษีมาใช้ “ราคาขายปลีกแนะนำ” ทั้งสินค้านำเข้าและผลิตในประเทศ ทำให้สะดวกในการจัดเก็บ ลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องไปตรวจสอบราคาหน้าโรงงานที่ยุ่งยาก ทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี

Q : 4 เดือนแรกฝุ่นตลบให้เวลาธุรกิจปรับตัว

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า แนวปฏิบัติตามกฎหมายใหม่จะเน้นเรื่อง “ตรวจสอบภาษี” ผู้ประกอบการมากขึ้น จากกฎหมายเดิมที่เน้น “จัดเก็บ” และ “ปราบปราม” เป็นหลัก โดยใช้การ “ตรวจสอบแนะนำ” ที่เป็น “preaudit” เช่น หากตรวจพบว่าผู้ประกอบการลงบัญชีไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้ผู้ประกอบการเร่งแก้ไขทันที ซึ่งช่วงที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว และเข้าไปแนะนำให้ผู้ประกอบการเข้าใจกระบวนการตามกฎหมายใหม่ เมื่อตรวจพบว่ามีการแจ้งราคาขายปลีกต่ำกว่าที่แจ้ง โดยเทียบกับ

“ราคาฐานนิยม” ซึ่งเป็นราคาที่กรมสำรวจมา ก็จะแจ้งให้ผู้ประกอบการรีบแก้ไขเสียภาษีเพิ่มหรือปรับลดราคาขาย ในส่วนของราคาฐานนิยมกรมจะตรวจสอบจากร้าน 7-8 ประเภท อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วยต่าง ๆ ซึ่งร้านเหล่านี้จะมีหน้าที่ต้องส่งราคาขายปลีกมาให้สรรพสามิต โดยกรมไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจให้วุ่นวาย ซึ่งระยะแรกกรมขอให้ร้านค้าส่งข้อมูลราคาให้ 3 เดือน/ครั้ง เพื่อที่จะนำราคาฐานนิยมที่ได้ ไปตรวจสอบกับราคาที่ผู้ขายสินค้าแจ้ง ซึ่งราคาอาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละช่องทาง ตามกฎหมายจะยอมให้แตกต่างกันได้บวก/ลบไม่เกิน 5%

Advertisment

Q : จัดเก็บภาษี 4 เดือนแรกทะลุเป้า

“กฤษฎา” กล่าวอีกว่า ขณะนี้การเก็บภาษีแต่ละสินค้าเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยช่วงตั้งแต่ ต.ค. 2560-ม.ค. 2561 กรมเก็บรายได้ 169,744 ล้านบาท เกินเป้ากว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งภาษีรถยนต์เก็บได้ 36,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 2,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่เก็บได้ 30,563 ล้านบาท จากตลาดรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว และเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น

“ยังมีภาษีสุราที่เกินเป้า 300 ล้านบาท และภาษียาสูบเกินเป้า่กว่า 500 ล้านบาท ส่วนภาษีเบียร์ทรง ๆ เพราะช่วงก่อนกฎหมายบังคับใช้ ผู้ประกอบการมีการเร่งผลิตสต๊อกสินค้าไว้ ทำให้ภาษีช่วงแรกหลังกฎหมายออกมาเก็บได้ลดลงไป แต่ตอนนี้ก็เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนภาษีน้ำมันเก็บได้กว่า 60,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย”

ทั้งนี้ ดูภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ตลอดทั้งปี คาดว่าจะเก็บรายได้ตามเป้า 600,000 ล้านบาท แม้จะเป็นเป้าที่มีอัตราเติบโตสูงถึง 9% จากปีก่อนหน้า

Advertisment

Q : “ภาษียาสูบ” กลับสู่ภาวะปกติ

สำหรับภาษียาสูบที่มีปัญหาในช่วงแรก ที่กระทบยอดจัดเก็บภาษีลดลง ทั้งมีผู้ประกอบการออกมาเรียกร้อง อธิบดียืนยันว่า ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากผลการจัดเก็บ 4 เดือน ที่ภาษียาสูบเกินเป้าแล้ว 500 ล้านบาท ส่วนข้อเรียกร้องต่าง ๆ ก็คงไม่ต้องปรับแก้อะไร เพราะอีก 2 ปีก็จะเหลืออัตราภาษีเดียวแล้ว จากปัจจุบันมี 2 เทียร์ เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว

ส่วนภาษีที่จัดเก็บจากค่าความหวานเครื่องดื่ม “กฤษฎา” กล่าวว่า ตัวนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องรายได้ภาษีอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี แต่เน้นส่งเสริมให้ดูแลสุขภาพมากกว่า ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นข้อมูลแจ้งภาษีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกมาก็เป็นเครื่องดื่มที่มีความหวานลดลง สะท้อนว่าการใช้ภาษีได้ผล

Q : สั่งเช็กข้อมูลทั่ว ปท.หลังบังคับใช้กฎหมาย

“กฤษฎา” กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตทั่วประเทศ รายงานผลหลังจากการที่ไป “ตรวจสอบแนะนำ” ผู้ประกอบการเข้ามา ว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาอุปสรรคอะไรในทางปฏิบัติบ้าง ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อที่กรมจะได้ปรับปรุงอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการให้ดีขึ้น และเมื่อมีฐานข้อมูล ในระยะต่อไปก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บได้มากขึ้น

“ตอนนี้ผมให้สรรพสามิตทุกภาคไปสำรวจว่ามีอุปสรรคอะไรในทางปฏิบัติ เมื่อได้ข้อมูลมา ก็จะให้สำนักแผนวิเคราะห์ดู ว่ากรมจะต้องออกระเบียบอะไรในการอำนวยความสะดวกให้เอกชนเพิ่มเติมบ้าง เช่น แบบคำขออนุญาตสุรา ยาสูบ ให้อยู่ในแบบเดียวกันเลย ไม่ต้องกรอกถึง 3 แบบ”

Q : ขยายฐานภาษี “ดูแลสิ่งแวดล้อม-สินค้าบาป”

“กฤษฎา” ยอมรับว่า ในอนาคตกรมต้องมองหา “ฐานภาษีอื่น ๆ” เพิ่มเติม เช่น ภาษีสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีบาปประเภทใหม่ ๆ เป็นต้น เพื่อให้รัฐมีรายได้เหมือนเดิม เพราะนโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด ที่ลดภาษีลงจากฐานเดิม 50% ก็อาจทำให้รายได้ภาษีรถยนต์ รวมถึงภาษีน้ำมันลดลงไป

ส่วนโจทย์ในช่วง 6 เดือนหลัง “กฤษฎา” บอกว่า จะเน้นปรับปรุงกฎระเบียบให้ช่วยอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการมากขึ้น อาทิ การยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีทางอินเทอร์เน็ต หรือขอใบอนุญาตต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพจัดเก็บ โดยนำระบบไอทีเข้ามา ซึ่งกรมมีระบบให้สรรพสามิตพื้นที่รายงานข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลาง “แบบเรียลไทม์” และแสดงผลเป็นแผนที่ทำให้สามารถเห็นได้ทันทีว่าพื้นที่ตรงไหน “สีแดง” ก็คือเก็บรายได้ต่ำ ก็ต้องเข้าไปจี้หรือดูข้อมูลมากขึ้น

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้ายว่า รูปแบบการทำงานของสรรพาสามิตจะเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจกับผู้ประกอบการมากขึ้น วิธีการเข้าไป “ตรวจสอบแนะนำ” จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บได้ เพราะไม่เช่นนั้นบางทีกว่าจะเจอการกระทำผิดผู้ประกอบการก็หายตัวไปแล้ว แต่ถ้าเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ตั้งแต่แรก ก็สามารถดึงเข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมทั้งการเปิดรับฟังปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพราะต้องถือว่าผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สร้างรายได้ให้กับกรมปีละ 6-7 แสนล้านบาท