ประกันรายได้ข้าว 65/66 งวด 8 เริ่มจ่ายวันนี้ เช็กรายละเอียด วิธีตรวจสอบ

ประกันรายได้ข้าว

ธ.ก.ส.โอนเงินประกันรายได้ข้าวปี 2565/2566 งวด 8 เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. สำหรับเกษตรกรกว่า 1.92 แสนครัวเรือน วงเงิน 557.58 ล้านบาท

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 วงเงินงบประมาณตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 18,700.13 ล้านบาท และ มติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

โดยการช่วยเหลือครั้งนี้ จะเป็นการโอนเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในงวดที่ 8 และงวดที่ 1-7 (เพิ่มเติม) เข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 เป็นจำนวนเงิน 557.58 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและส่วนต่าง สำหรับการประกันรายได้ข้าว งวดที่ 8 และงวดที่ 1-7 (เพิ่มเติม) ดังนี้

1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ เกณฑ์กลางตันละ 14,193.06 บาท ชดเชยตันละ 806.94 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 11,297.16 บาท

2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,433.45 บาท ชดเชยตันละ 566.55 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 9,064.80 บาท

3) ข้าวเปลือกปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 10,630.36 บาท ชดเชยตันละ 369.64 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 9,241.00 บาท

4) ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 9,469.04 บาท ชดเชยตันละ 530.96 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 15,928.80 บาท

5) ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,112.38 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาเป้าหมายที่ตันละ 12,000 บาท จึงไม่มีการชดเชยส่วนต่างในงวดนี้

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้นี้ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 กับกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย

โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จะจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยว และคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย ส่งให้ ธ.ก.ส. ประมวลผล เพื่อดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคากลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ธ.ก.ส. ทั้งทางเว็บไซต์ https://chongkho.inbaac.com/ แอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile และ A-Mobile Plus ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ