กอช.ชู “แอป-บัตรสิทธิพิเศษ” ล่อใจสมัครสมาชิกปีนี้ตั้งเป้า 1.2 ล้านคน

กอช.ชูแผนเปิดตัว “แอปพลิเคชั่น-บัตรสิทธิประโยชน์สมาชิก” ภายใน มิ.ย.นี้ หวังเป็นช่องทาง-จูงใจประชาชนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพิ่มขึ้น บอร์ด กอช.ไฟเขียวแผนปี”61 ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิก 120% เป็น 1.2 ล้านคน พร้อมตั้งเป้าผลตอบแทนลงทุนให้ได้ปีละ 3%

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน มิ.ย. 2561 นี้ ตนมีแผนเปิดตัว Mobile Application และบัตรสิทธิประโยชน์เพื่อผู้เป็นสมาชิก กอช. โดยคาดหวังว่าทั้ง 2 ส่วนนี้จะช่วยให้สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิก กอช.ได้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มสมาชิกเป็น 1.2 ล้านคน เพิ่มอีก 7 แสนคน หรือเพิ่มราว 120% จากปัจจุบันมีอยู่ 5.4 แสนคน

“สำหรับ Mobile Application เราจะให้เช็กสิทธิ์ก่อน ถ้าผ่าน ก็สมัครเป็นสมาชิก กอช.ได้เลย การส่งเงินสมทบก็จ่ายผ่านช่องทางนี้ได้เลย ซึ่งการทำแอปนี้ขึ้นมา จะทำให้เข้าถึงการสมัครสมาชิกได้เร็ว เพราะไม่ต้องไปสมัครที่แบงก์ หรือที่อื่น ๆ ซึ่งคาดหมายว่าในช่วงครึ่งปีหลังจำนวนสมาชิกน่าจะเพิ่มขึ้นได้มาก” นางสาวจารุลักษณ์กล่าว

ส่วนบัตรสิทธิประโยชน์เพื่อผู้เป็นสมาชิก กอช.นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาสิทธิประโยชน์ที่จะให้ เช่น หากมีการฝึกอาชีพ สมาชิก กอช.ก็จะได้รับโอกาสเข้าร่วมก่อน หรืออาจจะมีพริวิเลจอื่น ๆ คล้าย ๆ กับที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มีให้แก่สมาชิก กบข. เป็นต้น

ส่วนทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ กอช.ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เห็นควรให้ กอช.เข้าไปเจาะกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่เริ่มออมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยงานที่ต้องขับเคลื่อนให้เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมคือโครงการสร้างครูต้นกล้าการออม และคัดเลือกสถานศึกษาที่มีความโดดเด่นด้านส่งเสริมการออมให้เป็น “โรงเรียนต้นกล้าการออม” พร้อมกับขยายผลการรณรงค์สร้างวินัยการออมไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นในพื้นที่ 10 จังหวัด ตลอดจนร่วมมือกับ 10 หน่วยงานภาครัฐในการสร้างเครือข่าย อาทิ การทำโครงการผู้ว่าฯ (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ชวนออม เป็นต้น

“เราจะพยายามทำทุกวิถีทางให้ทุกคนรับรู้กองทุนนี้ก่อน แต่จำนวนสมาชิกจะเติบโตแค่ไหน ก็ขึ้นกับความพร้อมของประชาชนด้วย” นางสาวจารุลักษณ์กล่าว

Advertisment

นางสาวจารุลักษณ์กล่าวอีกว่า ภายในปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการแก้ไขกฎหมาย กอช. เพื่อให้สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเพิ่มได้ เป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จากเดิมที่สะสมได้ไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีกทาง แต่จะยังไม่พูดถึงการแก้กฎหมายให้รัฐบาลสมทบเพิ่มเป็นไม่เกิน 1,500 บาทต่อปี จากเดิมไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี เนื่องจากกองทุนเพิ่งดำเนินการมาแค่ 2 ปีเท่านั้น

เลขาธิการ กอช.กล่าวด้วยว่า ในด้านการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุนนั้น ในปี 2561 กอช.ยังคงลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง มากกว่า 80% อาทิ เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่กำหนด รวมถึงมุ่งเน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ไม่เกิน 20% เช่น ตราสารทุน (หุ้น) หน่วยลงทุนประเภทกองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน

“ปีที่แล้ว เราทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้ 4% ต่อปี โดยเรายังเน้นลงทุนกองทุนรวม ลงทุนในดัชนี SET50 ยังไม่ได้ลงทุนหุ้นแบบรายตัว เราตั้งเป้าหมายว่าต้องทำผลตอบแทนให้ได้ 3% ต่อปี ปัจจุบันมีเงินกองทุนอยู่ราว 4,000 ล้านบาท” เลขาธิการ กอช.กล่าว