เปิดตัวเลขเงินคงคลัง 2 เดือนแรกปีงบประมาณ 2566 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 1.3 แสนล้านบาท รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลลดลงกว่า 1.6 แสนล้านบาท คลังเผยเก็บรายได้เกินเป้ากว่า 5 หมื่นล้าน จากเงินนำส่งค่าสัมปทานมือถือ-ค่าประมูลคลื่นวิทยุ FM
วันที่ 8 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังได้รายงานฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-พ.ย.2565) โดยช่วงดังกล่าวรัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 415,312 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 760,611 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 80,394 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย.2565 มีจำนวน 296,305 ล้านบาท ลดลง 133,599 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเงินคงคลัง 429,904 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ก็พบว่า ตัวเลขลดลง 169,521 ล้านบาท
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ช่วง 2 เดือนแรก รัฐบาลเก็บรายได้สุทธิ 424,738 ล้นบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 55,418 ถ้านบาท หรือ 15% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.5%
โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ (1) หน่วยงานอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM
(2) รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมจากปีงบประมาณก่อนหน้า (3) กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ (4) กรมศุลกากร เนื่องจากมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นและกรมสุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 2,007 ล้านบาท หรือ 6% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.1%