“CHAYO” คาดเคาะราคาขาย IPO มี.ค.นี้ เตรียมเข้าเทรดตลาด mai ช่วงไตรมาส 2/61

“ชโยกรุ๊ป” หรือ CHAYO โรดโชว์นำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุน ปลื้มนักลงทุนตอบรับคึกคัก คาดเคาะราคาขายหุ้น IPO ช่วงเดือน มี.ค.นี้ เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 140 ล้านหุ้น หรือ 25% หวังระดมทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเพิ่ม ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ ก.ล.ต.อนุมัติขายหุ้น คาดเข้าเทรดตลาดเอ็มเอไอ (mai) ช่วงไตรมาส 2/61

 

นางสาวเลิศนภา ศรีทองสุก ผู้จัดการฝ่ายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “CHAYO” เปิดเผยถึงการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน มี.ค.61 เพื่อเตรียมเสนอขายหุ้นจำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเอ (mai) ได้เร็วที่สุดในช่วงปลายไตรมาส 1/61 หรือตอนต้นไตรมาส 2/61 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติขายหุ้น ซึ่งสัดส่วนในการเสนอขายหุ้นจะแบ่งขายต่อประชาชนทั่วไป 105 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯไม่เกิน 21 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อผู้บริหาร (ที่ไม่ใช่กรรมการ) และพนักงานของบริษัทฯไม่เกิน 7 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทฯอีกไม่เกิน 7 ล้านหุ้น

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ให้บริการติดตามและทวงถามหนี้ที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ส่วนบุคคล หนี้ค่าสาธารณูปโภค และมีบริษัทย่อยในเครือที่เสริมศักยภาพซึ่งกัน คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ชโย และบริษัท ชโย คอลเซ็นเตอร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อจำนวนมาก เนื่่องจากธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพไม่มีเข้าจดทะเบียนมานานแล้ว และบริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยมีพื้นฐานที่ดีมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) สูงกว่า 65% และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) สูงถึง 30-40% และการระดมทุนจาก IPO

“ในปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อประมูลซื้อหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันราว 70% และอีก 30% เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยสัดส่วนเกือบ 100% มาจากการซื้อหนี้ผ่านกลุ่มสถาบันการเงินเป็นหลัก คาดได้หนี้เข้ามาบริหารเพิ่มรวม 5- 6 พันล้านบาท จากสิ้นปี 2560 ที่มีพอร์ตบริหารหนี้อยู่แล้ว 26,000 ล้านบาท” นายสุขสันต์กล่าว

Advertisment

นายสุขสันต์ กล่าวว่า บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตและความยั่งยืนในธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ และธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า โดยจะมุ่งสร้างการเติบโตและเพิ่มรายได้และความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2557- 2559) บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานที่ 53.90 ล้านบาท 141.23 ล้านบาท และ 197.14 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 162.01% ในปี 2558 และ 39.58% ในปี 2559 โดยล่าสุดช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.60) บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 155.35 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 5.21% จากช่วงดียวกันปีก่อน

โดยรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากการให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สิน และธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าซึ่งเริ่มดำเนินงานหลังจากไตรมาส 3/59 สำหรับสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯ ในงวดดังกล่าวมาจากธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 78.43% ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ 17.59% ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า 3.74% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ

ขณะที่กำไรสุทธิย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2557-2559 อยู่ที่ 18.81 ล้านบาท 68.94 ล้านบาท 70.89 ล้านบาท ตามลำดับ และล่าสุดกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.60) อยู่ที่ 45.27 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2557-2559 อยู่ในระดับสูงที่ 61.81% และ 72.90% และ 68.75% ตามลำดับ ส่วนงวด 9 เดือนของปี 2560 อยู่ที่ 65.58%