ดอลลาร์อ่อนค่า หลังจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (14/2) ที่ระดับ 31.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตลาดมีแรงเทขายดอลลาร์ในคืนที่ผ่านมา ประกอบกับเงินทุนต่างประเทศได้ไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับรัฐบาลทรัมป์ที่มองการอ่อนค่าของดอลลาร์จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ  อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีผู้บริโภค (CPI) พุ่งขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือน โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.3% การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนี CPI ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของราคาอาหาร น้ำมันเบนซิน ค่าเช่า และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมในปีที่ผ่านมา และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.2% ถึงแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดี แต่ทางสหรัฐได้มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรก สู่ระดับ 2.5% จากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 3.0% หลังจากการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ซบเซา โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกร่วงลง 0.3% ในเดือน ม.ค. โดยเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ปีที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากทรงตัวในเดือน ธ.ค. ยอดค้าปลีกที่ปรับตัวลงในเดือน ม.ค. ได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง และยอดขายรถยนต์ ในส่วนของยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ทรงตัวในเดือน ม.ค. หลังจากลดลง 0.2% ในเดือน ธ.ค. ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.27-31.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.27/31.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (15/2) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2464/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (14/2) ที่ระดับ 1.2362/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจาก Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดย Ifo ได้เปิดเผยรายงานการสำรวจเศรษฐกิจโลก “World Economic Survey” โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 17.1 ในไตรมาสที่ 4ของปี 2560 สู่ระดับ 26.0 ในไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2550 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2449-1.2510 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2493/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (15/2) เปิดตลาดที่ระดับ 106.53/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (14/2) ที่ระดับ 107.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงจากแรงซื้อเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและเงินเยน นอกจากนี้ นายทาโร่ อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงตลาด เพื่อให้เงินเยนอ่อนค่าลง หลังจากที่ เงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยการแข็งค่าของเงินเยนนั้น ยังไม่แสดงความกังวลต่อรัฐบาลญี่ปุ่นเพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นแข็งแกร่งพอที่จะรองรับกับผลกระทบด้านลบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินเยนได้ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 106.19-107.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 106.36/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (15/2) ตัวเลขเงินเฟ้อ PPI (15/2) ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (15/2) ตัวเลขการสร้างบ้าน (16/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.3/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.7/0.07 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ