บอร์ด PPP ไฟเขียว ทอท. ให้สิทธิผู้ประกอบการงานบริการ สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่ม 2 โครงการ

สุวรรณภูมิ

“สุพัฒนพงษ์” นั่งหัวโต๊ะบอร์ด PPP ไฟเขียว “ทอท.” เดินหน้า 2 โครงการให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่ารวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เตรียมให้สิทธิประกอบกิจการรายใหม่เพิ่มเติม

วันที่ 18 มกราคม 2566 นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันพุธที่ 18 มกราคม 2566 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักการโครงการให้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (ทอท.) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบการรายที่ 3 มูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาทและโครงการให้บริการคลังสินค้า ของผู้ประกอบการรายที่ 3 มูลค่าประมาณ 6,500 ล้านบาท

“ทั้ง 2 โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สิทธิประกอบกิจการแก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติมสำหรับการให้บริการที่เกี่ยวข้องในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นการรองรับปริมาณผู้โดยสาร จำนวนเที่ยวบินที่ใช้บริการ และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความไม่เพียงพอในการให้บริการของผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล และจะช่วยดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินของประเทศในระยะยาว”

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) มาใช้ในโครงการ PPP โดยได้รับทราบประกาศ สคร. เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการนำข้อตกลงคุณธรรม (IP) มาใช้กับโครงการ PPP ซึ่ง สคร. ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ และแจ้งเวียนให้กระทรวงเจ้าสังกัดทราบและแจ้งหน่วยงานในสังกัดทุกแห่งเพื่อถือปฏิบัติต่อไปแล้ว

“ปัจจุบันมีโครงการ PPP ที่ได้นำข้อตกลงคุณธรรม (IP) ตามประกาศ สคร. มาปรับใช้แล้ว จำนวน 5 โครงการ อันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการดำเนินโครงการ PPP รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รวมทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น”