
สำนักงานสลากฯ เผยได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแพลตฟอร์มเอกชนที่ขายสลากเกินราคาแล้ว 22 แพลตฟอร์ม ขณะที่ศาลสั่งปิดไปแล้ว 12 แพลตฟอร์ม เร่งตรวจสอบที่มาที่ไปล็อตเตอรี่เกือบ 11 ล้านฉบับ จากการตรวจคน “กองสลากพลัส” จ่อยกเลิกสัญญา-ตัดสิทธิตัวแทน
วันที่ 20 มกราคม 2566 พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า ตั้งแต่งวดวันที่ 16 มกราคม 2565 ถึงงวดวันที่ 16 ธันวาคม 2565 สำนักงานสลากฯ ได้ดำเนินการกับแพลตฟอร์มเอกชนต่างๆ ที่นำสลากไปจำหน่ายต่อในราคาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยมีการร้องทุกข์กล่าวโทษไปแล้ว 22 แพลตฟอร์ม
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- MOTOR EXPO 5 วัน ค่ายอีวี BYD ลุ้นแซงโตโยต้า ขึ้นผู้นำขายสูงสุด
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบออกจากระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 12 แพลตฟอร์ม อยู่ระหว่างสืบพยานผู้คัดค้าน 1 แพลตฟอร์ม (กองสลากพลัส) และมีคำสั่งยกคำร้อง 2 แพลตฟอร์ม (มังกรฟ้าและหงส์ทอง.com) ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวน
สำหรับการดำเนินการ หลังจาก กองบังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมทำการตรวจค้น บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด (กองสลากพลัส) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ซึ่งพบสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 17 มกราคม 2566 ในระบบจำนวน 10,227,715 ฉบับ นั้น สำนักงานสลากฯ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบ

เพื่อดำเนินการยกเลิกสัญญา หรือสิทธิการเป็นผู้ซื้อจอง-ล่วงหน้าฯ ต่อไป เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามสัญญาและหลักเกณฑ์ในการรับสลากไปจำหน่าย ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องขายสลากด้วยตนเอง และไม่ขายสลากเกินราคาที่กำหนดไว้ในสลาก
รวมถึงไม่นำสลากของตนไปขายให้แก่ผู้อื่นเพื่อนำไปรวมชุด หรือแลกเปลี่ยนสลากกับผู้อื่น หากทำผิดสัญญาสำนักงานสลากฯ มีสิทธิบอกเลิกสัญญา หรือยกเลิกสิทธิการเป็นผู้ลงทะเบียนซื้อ-จองล่วงหน้าได้ทันที รวมถึงสลากในส่วนของสมาคม/องค์กร สำนักงานสลากฯ จะยกเลิกสิทธิในการรับสลากไปจำหน่ายของสมาชิกในสมาคม/องค์กรนั้นๆ ทันทีเช่นกัน
ทั้งนี้ การตัดสิทธิเป็นผลที่จะต้องดำเนินการเมื่อพบความผิดตามมา เพราะหากไม่ดำเนินการ จะถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้