เงินเฟ้อสหรัฐขึ้นตามคาด หนุนดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

เงินเฟ้อสหรัฐขึ้นตามคาด หนุนดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในการประชุมเดือนมีนาคม พฤษภาคมและมิถุนายน สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (13/2) ที่ระดับ 33.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/2) ที่ระดับ 33.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยในช่วงวันจันทร์ค่าเงินยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันอังคาร (14/2) อย่างไรก็ดีก่อนหน้าการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ได้ออกมาเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ครั้งล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 1/2566 สูงกว่าระดับ 2.1% ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้

ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสูงระดับ 66.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 65.1 จากระดับ 64.9 ในเดือนมกราคม ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.38% สู่ระดับ 103.629

ดอลลาร์ยังปรับตัวแข็งค่า

โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อภายหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้น 6.4% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นต่ำสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2% แต่ปรับตัวลดลงจากระดับ 6.5% ในเดือนธันวาคม

Advertisment

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น 5.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 5.5% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่ำสุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 5.7% ในเดือนธันวาคม โดยถึงแม้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะมีสัญญาณะชะลอตัว ทว่าตัวเลขที่ออกมาได้แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อชะลอตัวช้ากว่าที่ตลาดคาด บ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายตึงตัวผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อทำให้เงินเฟ้อลดลง

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประธานเฟดสาขานิวยอร์กที่กล่าวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีสัญญาณชะลอตัว แต่ยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ดังนั้นธนาคารกลางจึงอาจจะต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าที่คาดการณ์ปัจจุบันระบุไว้ต่อไปอีก

ค้าปลีกสหรัฐเพิ่ม จากยอดขายรถยนต์-ปั๊มน้ำมัน

นอกจากนั้นแล้วค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการเปิดเผยยอดค้าปลีกประจำเดือนมกราคมที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้น 1.8% หลังจากดิ่งลง 1.1% ในเดือนธันวาคม โดยยอดค้าปลีกได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์และยอดขายน้ำมันในสถานีบริการน้ำมัน

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนมกราคม หลังจากลดลง 0.7% ในเดือนธันวาคม โดยการปรับขึ้นของยอดค้าปลีกดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์

Advertisment

โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในการประชุมเดือนมีนาคม พฤษภาคมและมิถุนายน สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธันวาคม

พาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกปี2566 โต1-2%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันจันทร์ (13/2) นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 66 กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยในปี 66 ไว้ที่ 1-2% จากปี 65 คิดเป็นมูลค่า 289,937-292,808 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10-10.1 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังเตรียมขยายตลาดไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกโต 20%, เอเชียใต้ ตั้งเป้าเพิ่ม 10%, จีน เพิ่ม 1% จากปีที่ผ่านมาติดลบ 7% ตลาด CLMV เพิ่ม 15% ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ยังคงรักษาตลาดไว้ ในวันพุธ (15/2)

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่าแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศจะอยู่ในระดับที่ห่างจากอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศถึงประมาณ 3% แต่ปัจจัยนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดเงินทุนไหลออก และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ 3.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้อาจชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่มองว่ายังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่กรอบ 1-3% แต่จะสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2567

ดังนั้นหากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงอยู่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้โดยเร็วนัก และได้กล่าวเสริมว่าค่าเงินบาทในปัจจุบันมีความผันผวนพอสมควร แต่ยังอยู่ในระดับที่ภาคธุรกิจรับได้ ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ โดยมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.73-34.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/2) ที่ระดับ 34.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เงินยูโรอ่อนค่า

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (13/2) ที่ระดับ 1.0666/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/2) ที่ระดับ 1.0711/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของสหรัฐ แม้ว่าคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนในปีนี้จะปรับตัวดีกว่าที่วิตกกันก่อนหน้านี้ เนื่องจากอากาศไม่หนาวจัด และการสำรองปริมาณก๊าซศที่ระดับสูงได้ช่วยผ่อนคลายวิกฤตพลังงาน อีกทั้งยังได้อิทธิพลจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน

ขณะที่เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (EU) ในกรุงบรัสเซลส์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของ EU จะขยายตัว 0.9% ขณะที่ในวันพุธ (15/2) สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปได้เปิดเผยว่า จีดีพีของยูโรโซนในไตรมาส 4 ปีขยายตัวเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.1% ถือเป็นการขยายตัวที่ระดับ 1.9% เมื่อเทียบรายปี ส่วนตัวเลขการจ้างงานในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้น 0.4% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.1% ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0708-1.0798 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/2) ที่ระดับ 1.0640/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (13/2) ที่ระดับ 131.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/2) ที่ระดับ 130.90/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนทรงตัวในระดับอ่อนค่าในการเปิดตลาดสัปดาห์นี้ และค่อย ๆ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างสัปดาห์จากการกลับเข้าถือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังการเปิดเผยตัวเลข CPI ที่เพิ่มขึ้นพร้อมการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยตลาดยังรอติดตามการเสนอรายชื่อผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ คนถัดไป

โดยในวันอังคาร (14/2) รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอชื่อนายคาซูโอะ อุเอดุ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ ต่อจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งจะพ้นวาระในเดือนเมษายนปีนี้ โดยนายอุเอดะเป็นนักวิชาการและอดีตสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ BOJ โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันอังคาร (14/2) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GP) ไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าในไตรมาส 3 ที่ตัวเลข GDP หดตัวลง 0.8% โดยได้ปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนที่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขออกมาต่ำคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะขยายตัว 2.0% ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ว่าการธนาครกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่จะเผชิญกับความท้าทายในการเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ทั้งนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.32-135.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/2) ที่ระดับ 134.86/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ