
แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 34.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จับตารายงานเงินเฟ้อทั่วไปของไทย-ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ เกาะติดประชุมสภาแห่งชาติจีน ประกาศการเติบโต หนุนเงินบาทแข็งค่าได้ ด้านฟันด์โฟลว์คาดนักลงทุนยังเดินหน้าขายสินทรัพย์ โอกาสเงินบาทอ่อนค่าทดสอบ 35.50 บาทต่อดอลลาร์
วันที่ 5 มีนาคม 2566 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 6-10 มีนาคม 2566) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านได้
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ตรวจหวย ตรวจผลรางวัล ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 มิ.ย. 66 (อัพเดต)
- “เหล้า-เบียร์” เจ๊กอั้ก ! ร่างกฎหมายใหม่ คุมเข้ม-สุดโหด
ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องติดตาม จะเป็นตัวเลขรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนกุมภาพันธ์ โดยตลาดจะรอลุ้นตัวเลขที่ออกมาว่าจะชะลอตัวลงมากน้อยเพียงใด
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ โดยในสหรัฐผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจผ่าน 1.รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) รวมถึงการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) และ 2.ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม พร้อมกับติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยเฉพาะประธานอีซีบี เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของอีซีบี
ทางฝั่งเอเชีย ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นการปรับนโยบายการเงินที่ชัดเจน จนกว่าว่าที่ผู้ว่าฯบีโอเจคนใหม่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งไปอีกสักระยะ ดังนั้น อาจเห็นการปรับนโยบายการเงินในช่วงกลางปีนี้
สำหรับทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นขายสุทธิราว 1 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิราว 3,200 พันล้านบาท โดยในช่วงสัปดาห์หน้าคาดว่าตลาดหุ้นยังคงขายสุทธิ 5,000 ล้านบาท และบอนด์ขายสุทธิ 1,000-2,000 ล้านบาท
“ปัจจัยกดดันให้ตลาดการเงินยังคงผันผวนคือ ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล ดัชนี SET ก็ยังอยู่ในช่วงปรับฐาน และราคาอยู่ในระดับต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ซึ่งผู้เล่นในตลาดก็อาจยังไม่รีบเข้าสะสมในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยได้ปรับฐานใกล้โซนแนวรับสำคัญ ทำให้แรงขายอาจเริ่มชะลอลงได้
นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยล่าสุด จะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงขายหุ้นไทย แรงขายบอนด์เริ่มมีการชะลอตัวลงบ้าง อย่างไรก็ดี หากเงินบาทยังไม่มีแนวโน้มจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน เรามองว่านักลงทุนต่างชาติก็อาจจะยังไม่รีบเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย”
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 6-10 มีนาคม 2566) เคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.40-35.30 บาทต่อดอลลาร์
โดยมุมมองภาพใหญ่เงินบาทอาจจะยังกลับมาแข็งค่าได้ไม่ไกล ขณะที่บอนด์ยิลด์สหรัฐ อายุ 10 ปี ทะลุ 4% อย่างไรก็ดี หากข้อมูลเริ่มบ่งชี้ว่ากิจกรรมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐกลับมาชะลอลงอีกครั้ง นักลงทุนจะขายดอลลาร์และกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง กระแสเงินทุนไหลออกมีแนวโน้มลดลง หรืออาจพลิกกลับเข้ามาบางส่วน เนื่องจากตลาดคาดการณ์ไปแล้วว่าดอกเบี้ยปลายทางของเฟดยกสูงขึ้น
ดังนั้น ค่าเงินบาทอาจย่ำฐานแกว่งตัวออกด้านข้าง เพื่อรอข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐ หลังตัวเลขเดือนมกราคมออกมาสูงช็อกตลาด
“ช่วงสุดสัปดาห์นี้มีประชุมสภาแห่งชาติของจีนซึ่งตลาดจะจับตาการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ หากเป้าหมายให้ความหวังต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้”