SAPPE ควักเงินสดลงทุน 1.6 พันล้าน สร้างโรงงานใหม่ผลิตเครื่องดื่ม

ไลน์อัพสินค้า Sappe เซ็ปเป้

SAPPE ควักเงินสดลงทุน 1,630 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ผลิตเครื่องดื่ม ในจังหวัดปทุมธานี เพิ่มกำลังผลิต 66,000 ตันต่อปี หนุนกำลังการผลิตรวมสูงสุดรวม 242,500 ตันต่อปี คาดก่อสร้าง-เริ่มเปิดดําเนินการผลิตได้ไตรมาส 2 ปี 2568

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จํากัด (มหาชน) หรือ SAPPE แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.) ได้มีมติอนุมัติการเข้าทํารายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ ในโครงการลงทุนก่อสร้างอาคารโรงงาน อาคารคลังสินค้า และการติดตั้งเครื่องจักรเพื่อการผลิตเครื่องดื่ม ซึ่งมีขนาดกําลังการผลิตประมาณ 66,000 ตันต่อปี ทั้งยังมีพื้นที่ซึ่งบริษัทสามารถเพิ่มเติมไลน์การผลิตได้อีก 2 ไลน์ รวมเป็น 3 ไลน์การผลิต รวมขนาดการผลิตสูงสุด 242,500 ตันต่อปี

โดยอาคารโรงงานและอาคารคลังสินค้านี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานเดิมที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี บนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มูลค่าการลงทุนรวมสูงสุดไม่เกิน 1,630 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดของบริษัท โดยแบ่งเป็น

1.ค่าก่อสร้างโรงงาน ระบบสาธารณูปโภคพร้อมการติดตั้งค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์การสนับสนุนในการผลิต สูงสุดไม่เกิน 1,500 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขชําระเงินล่วงหน้าตามข้อตกลงในสัญญา และจ่ายชําระเป็นงวด ๆ ตามความก้าวหน้าในการดําเนินงานก่อสร้าง และตาม Credit Term 60-120 วัน ของผู้ขายแต่ละราย

2.ค่าก่อสร้างคลังสินค้า ระบบสาธารณูปโภคพร้อมการติดตั้ง ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์การสนับสนุนในการจัดการคลังสินค้า มีมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 130 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขชําระเงินล่วงหน้าตามข้อตกลงในสัญญา และจ่ายชําระเป็นงวด ๆ ตามความก้าวหน้าในการดําเนินงานก่อสร้าง และตาม Credit Term 60-120 วัน ของผู้ขายแต่ละราย

ทั้งนี้ การก่อสร้างอาคารโรงงาน อาคารคลังสินค้า และการติดตั้งเครื่องจักรจะใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ 18-20 เดือน คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดดําเนินการผลิตได้ประมาณไตรมาส 2 ปี 2568

อย่างไรก็ดี คาดว่าจะทำให้บริษัทมีกําลังการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 66,000 ตันต่อปี จากปัจจุบันประมาณ 160,000 ตันต่อปี ซึ่งจะรองรับความต้องการของลูกค้าที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและที่คาดการณ์ในอนาคต รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของโลก

และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการคลังสินค้า โดยการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นระบบอัตโนมัติ ทําให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ลดการพึ่งพาแรงงาน และมีการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและการจัดการคลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ