ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง คาดเฟดเดินหน้าเพิ่มดอกเบี้ยต่อ

ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง คาดเฟดเดินหน้าเพิ่มดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า ยังมีทิศทางที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนุบสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/6) ที่ระดับ 35.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/6) ที่ระดับ 35.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเทียบสกุลหลัก หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในการเสวนาว่าด้วยนโยบายการเงินของธนาคารกลาง โดยส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. และ ก.ย.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และสกัดความร้อนแรงในตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ นายพาวเวลล์ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้

ขณะที่นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 15.7% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% นอกจากนี้คาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ก.ย., พ.ย., และ ธ.ค.

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า ยังมีทิศทางที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 66 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย การบริโภคภาคเอกชนและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารโลกเปิดรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยประจำเดือน มิ.ย. 66 โดยปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2566 เพิ่มเป็น 3.9% จาก 3.6 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย. โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.68-35.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/6) ที่ระดับ 1.0906/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/6) ที่ระดับ 1.0953/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (BCB) ชี้ยังไม่มีแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยภายใน 2 ปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยูโรยังไม่กลับคืนสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือน แม้จะมีความคืบหน้าในปีนี้

Advertisment

อีกทั้ง GfK ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยตลาดเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะลดลงในเดือน ก.ค.สู่ระดับ -25.4 จากระดับ -24.4 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ -23.0 และเป็นครั้งแรกที่ปรับลดลงหลังปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 8 เดือน เนื่องจากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและรายได้ลดต่ำลง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0882-1.10921 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0912/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/6) ที่ระดับ 144.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/6) ที่ 144.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวานนี้ (28/6) ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงจับตาค่าเงินเยนอย่างใกล้ชิด จากการที่เยนอ่อนค่าลงอย่างมากในขณะนี้ โดยจะให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน และจะดำเนินการอย่างเหมาะสม หากเยนปรับตัวผันผวนมากเกินไป

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.14-144.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.35-37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (29/6), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ ไตรมาส 1/2566 (29/6), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิถุนายนของยูโรโซน (30/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือนมิถุนายนของจีน (30/6),

ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคพื้นฐานส่วนบุคคลของสหรนัฐ (PCB) เดือน พ.ค. (30/6), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหราชอาณาจักร (30/6), ดัชนียอดขายปลีกของเยอรมนี (30/6), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย (30/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.0/-10.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.0/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ