เงินบาท Q3 อ่อนค่า “การเมืองไม่นิ่ง-เงินทุนไหลออก”

เงินบาทอ่อนค่า อัตราแลกเปลี่ยน การเมือง การลงทุน

ไทยพาณิชย์ คาดเงินบาท 2 เดือนข้างหน้าเผชิญแรงกดดัน ทั้งปัจจัยภายนอก-การเมืองภายในไม่นิ่ง-ฟันด์โฟลว์ไหลออก ชี้เทรนด์ยังอ่อนค่าในกรอบ 35.50-35.80 บาท/ดอลลาร์ ส่วนไตรมาส 4 มีโอกาสกลับมาแข็งค่า ฟาก ธปท.ชี้บาทผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทช่วงนี้ยังคงผันผวนและได้รับแรงกดดันในทิศทางอ่อนค่า โดยในระยะสั้น 2-3 เดือนข้างหน้า คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-35.80 บาท/ดอลลาร์ จาก 2-3 ปัจจัยกดดัน คือ 1.ค่าเงินหยวนอ่อนค่าที่ 7.25 หยวน/ดอลลาร์ โดยทางการจีนพยายามไม่ให้เงินหยวนอ่อนค่ามาก จึงเป็นจุดที่ต้องติดตาม 2.policy divergence ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ขณะที่ธนาคารกลางอื่น เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดดอกเบี้ย รวมถึงไทยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเล็กน้อย เพราะห่วงเรื่องของหนี้ครัวเรือน และไม่ได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ ทำให้ตลาดทุนไม่น่าสนใจ

ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย (fund flow) ไหลกลับตลาดสหรัฐ และ 3.การเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งนโยบาย แต่จะเห็นว่านโยบายจะกระทบในส่วนของตลาดทุน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่

“3 ปัจจัยส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ในปี 2566 ไหลออกสุทธิ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไหลออกประมาณ 1.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ไหลออกจากตลาดหุ้น 1.1 แสนล้านบาท ตลาดบอนด์ 8.1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 เงินไหลเข้าสุทธิ 2.46 แสนล้านบาท”

นายแพททริก กล่าวว่า ประเมินว่าในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในกรอบ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัว การท่องเที่ยวและส่งออกปรับตัวดีขึ้น และความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองน่าจะลดลง ประกอบกับเฟดน่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาเป็นบวก ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทมองไปข้างหน้ายังคงมีความผันผวน โดยมาจากปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อค่าเงินสูงถึง 60% ซึ่งเป็นปัจจัยเกินคาดเดาและควบคุมได้ยาก

ดังนั้น ธปท.จะส่งเสริม FX Ecosystem เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในปี 2566 จะผ่อนคลายเกณฑ์ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการไทย ขยายวงเงินให้เปล่าจาก 5 หมื่นดอลลาร์ เป็น 2 แสนดอลลาร์ และส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (local currency) 2.นักลงทุนไทย จะขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศรายย่อย

โดยไม่ผ่านตัวกลางจาก 5 ล้านดอลลาร์ เป็น 10 ล้านดอลลาร์ และ 3.บริษัทและนักลงทุนต่างประเทศ จะขยายขอบเขตโครงการ NRQC ไปในเซ็กเตอร์ payment เพิ่มเติม จากปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม 63 บริษัท