“สุทธิพล” ฝากการบ้าน เลขาฯ คปภ.คนใหม่ สานต่องานค้างท่อ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ

การสรรหาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คนใหม่ที่จะมาแทน “ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ” ซึ่งดำรงตำแหน่งมาใกล้จะครบวาระที่ 2 รวมเวลา 8 ปี ในวันที่ 31 ต.ค. 2566 นี้

ล่าสุดมีรายงานว่า หลังจากที่ปิดรับสมัครไป เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้สนใจยื่นใบสมัครรวม 10 ราย แต่หลังผ่านกระบวนการคัดกรองคุณสมบัติ เหลือผู้ท้าชิงอยู่ด้วยกัน 4 ราย ซึ่งใครจะเข้าวินคงต้องติดตามกันต่อไป

ธุรกิจโตปีนี้เบี้ยเฉียด 9 แสนล้าน

ขณะที่ “ดร.สุทธิพล” กล่าวในงาน “สานสายใย พี่น้องชาวสื่อ ครั้งที่ 9” ที่สำนักงาน คปภ. จัดขึ้นว่า ธุรกิจประกันภัยปีนี้ คาดเบี้ยประกันภัยสิ้นปีจะอยู่ที่ 894,600 ล้านบาท เติบโต -0.05% ถึง +1.95% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี พบว่าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ธุรกิจประกันภัยมีการเติบโต 4.8% ซึ่งสูงกว่าคาดไว้มาก จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

แต่ต้องยอมรับว่ายังมีปัจจัยเชิงลบกดดันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ตลาดเงินและตลาดทุนที่ผันผวน ส่งผลต่อแบบประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) และราคาหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล รวมถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ค่าสินไหมทดแทนของธุรกิจประกันวินาศภัยที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการเคลมประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้น

“ปีที่แล้วธุรกิจประกันภัย มีเบี้ยประกัน 885,333 แสนล้านบาท เติบโต 0.76% จากปีก่อนหน้า มาจากเบี้ยธุรกิจประกันชีวิต 611,106 ล้านบาท และเบี้ยธุรกิจประกันวินาศภัย 274,227 ล้านบาท สาเหตุที่ไม่ได้โตมาก เพราะเป็นช่วงที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด” ดร.สุทธิพลกล่าว

ฝากการบ้านเลขาฯคนใหม่

“ดร.สุทธิพล” ยังได้กล่าวฝากการบ้านเลขาธิการ คปภ.คนใหม่ที่จะเข้ามารับไม้ต่อว่า ภารกิจที่เลขาธิการ คปภ.คนใหม่ อาจจำเป็นต้องสานงานต่อ โดยขับเคลื่อนผ่าน 4 มิติ มิติแรก คือ การปรับปรุงกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล ซึ่งควรมีหลักการ หรือกติกาเท่าที่จำเป็น

ตอนนี้ได้ปรับปรุงกฎหมายแม่บทและยกเลิกกฎหมายอนุบัญญัติที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจประกันภัย (regulatory guillotine) ไปแล้ว แต่ไม่สามารถทำแล้วจบ ต้องทำต่อไป ๆ

ส่วนประเด็นการปรับปรุงกฎหมายแม่บทเรื่องประกันภัย ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมาก ปัจจุบันได้ยกร่างกฎหมายออกเป็น 3 กลุ่ม แต่สำเร็จและได้ใช้ปฏิบัติเพียงแค่กลุ่มเดียวคือ การมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนโดยตรง เพิ่มบทบัญญัติการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย

ส่วนอีก 2 กลุ่ม คือ การเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท และการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดชอบของกรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปหมดแล้ว แต่กระบวนการพิจารณากฎหมายค่อนข้างช้า ปัจจุบันยังอยู่ที่กฤษฎีกา เช่นเดียวกับกฎหมายประกันภัยทางทะเลที่เสนอมาแล้ว 6 ปี แต่ยังไม่ผ่าน

“คปภ.ต้องติดตามต่อไปว่ากฎหมายเรื่องการเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท จะได้ใช้เมื่อไหร่ เพราะจริง ๆ ถูกบรรจุในวาระของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่เจอยุบสภาไปเสียก่อน”

ศึกษาเปิดไลเซนส์ใหม่

มิติที่สอง ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคธุรกิจประกันภัย มุ่งไปสู่ digital insurance อย่างเต็มรูปแบบ โดยโมเดลในต่างประเทศดำเนินการ 2 แบบ คือ 1.บริษัทประกันภัยเดิมลงทุนปรับระบบใหม่ หรือ 2.เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตใหม่

ซึ่งจะเป็นไลเซนส์ประกันภัยดิจิทัล (digital insurance license) โดยทีมงานกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ เพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำให้ระบบประกันตอบโจทย์ครบวงจร และนำ tech trends มาใช้บริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบ tailor made

“ตอนนี้ในหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย, ฮ่องกง เป็นต้น หากเป็นการเปิดไลเซนส์ใหม่ เพื่อขายประกันบนดิจิทัล 100% ต้องลงทุนวางระบบ แต่ไม่ต้องใช้คนกลางประกันภัย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มาก แต่จะถูกจำกัดขายได้เฉพาะบางประเภทกรมธรรม์เท่านั้น

เราจึงต้องเปรียบเทียบก่อนว่า ถ้าเปิดไลเซนส์ใหม่จะคุ้มไหม การแข่งขันเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้มีบางบริษัทประกันในไทยลงทุนในร่างเทคไปบ้างแล้ว และข้อมูลล่าสุดของฮ่องกงที่เปิดให้ยื่นขอไลเซนส์ใหม่ 4 ราย ก็พบว่าเจ๊งไป 2 ราย”

เข้มออกผลิตภัณฑ์เสี่ยง

ถัดมามิติที่สาม ขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยมุ่งสู่ sustainable insurance โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงภัยจะต้องเข้าสนามทดลอง (sandbox) มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองและจำกัดการรับประกัน และเดินหน้าผลักดันเรื่อง ESG แม้ต้องใช้เวลา รวมถึงเตรียมพร้อมอุตฯประกันภัยให้รองรับขยายตลาดและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้ตั้งไข่เชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงาน คปภ.ในอาเซียนไว้หมดแล้ว

ยกระดับมาตรการกำกับ

“สุดท้ายมิติที่สี่ ยกระดับการกำกับดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ซึ่งต้องยกระดับใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยได้เริ่มในเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยไปแล้ว โดยกำหนดให้บริษัทประกันส่งทุกธุรกรรมที่มีความผิดปกติเข้ามาตรวจสอบ โดยป้อนให้เอไอช่วยวิเคราะห์และแจ้งเตือนสถิติที่อาจมีแนวโน้มการฉ้อฉล เพื่อรวบรวมข้อมูลประสานงานกับตำรวจดำเนินการในกระบวนการต่าง ๆ ต่อไป” ดร.สุทธิพลกล่าว