ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง ลุ้นจัดตั้งรัฐบาลปลุกเชื่อมั่น-ชี้ชะตาดัชนี

ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง การจัดตั้งรัฐบาล วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล-ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล-เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม

ตลาดหุ้นไทยดูลุ่ม ๆ ดอน ๆ ผ่านมาได้ครึ่งทางของปี 2566 แล้ว โดยครึ่งปีแรกนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไป 113,646 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศขายสุทธิไป 6,571 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 77,667 ล้านบาท และสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 42,550 ล้านบาท โดยผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ SET ติดลบ สวนทางตลาดหุ้นโลกที่เป็นบวก

SET ครึ่งปีแรกติดลบ 10%

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ปีที่แล้ว SET เป็นบวกเล็กน้อย ในขณะที่ตลาดอื่นตก 20-30% แต่ปีนี้ครึ่งปีแรก SET ตกลงมาประมาณ 10% และผันผวน ซึ่งไม่มีอะไรมาก แต่เป็นเพราะนักลงทุนมอง SET เป็น “หลุมหลบภัย” เวลาไม่รู้จะไปที่ไหน ก็จะมาทางนี้ แต่เมื่อสถานการณ์ในโลกปรับตัวดีขึ้น โอกาสเกิดขึ้นมากมาย หลุมหลบภัยจึงหมดค่า

“เรื่องฟันด์โฟลว์ที่ไหลออก ก็มาจาก 2 ปัจจัย คือ มูลค่าของการเป็นหลุมหลบภัยหมดไป แล้วก็เรื่องการเมืองของไทยที่นักลงทุนยังมีความกังวลใจทำให้เงินออกไปพอสมควร ซึ่งฟันด์โฟลว์ของตลาดหุ้นโลก จะเห็นว่าเงินไหลกลับไปสหรัฐบางส่วน ที่มาก ๆ ก็มีไปญี่ปุ่น จีน อินเดีย เป็นต้น ส่วนตลาดพันธบัตร ก็พบว่าเงินไหลกลับไปตลาดสหรัฐเยอะอย่างน่าสนใจ เพราะดอกเบี้ยเขาที่เพิ่มขึ้น”

นักลงทุนรอจัดตั้งรัฐบาลชัดเจน

มองไปข้างหน้า “ดร.กอบศักดิ์” กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index : ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 81.62 ปรับขึ้นเล็กน้อย 5.1% จากเดือนก่อนหน้า กลับมาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยนักลงทุนมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

หุ้นไทยครึ่งปีหลังยังมีแรงกดดัน

โดย “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3 คงยังแกว่งผันผวน โดยปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดทิศทางอยู่ที่ปัจจัยทางการเมืองในประเทศเป็นหลัก

Advertisment

โดยหากการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล ดำเนินไปด้วยดี เชื่อว่าจะเป็นแรงดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ให้ไหลกลับเข้ามาได้ แต่หากออกในทางตรงข้ามถือเป็นปัจจัยที่กลับมากดดันตลาดหุ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลัง ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยกดดันจากความกังวลเรื่องเสถียรภาพและการเปลี่ยนผ่านนโยบายต่าง ๆ ได้แก่ 1) นโยบายการเงินของไทยที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง 2) ความไม่แน่นอนทางการเมือง 3) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)

“ยังรวมถึงความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เริ่มส่งผลมายังภาคเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว”

ลุ้น SET สิ้นปีแตะ 1,600 จุด

ทั้งนี้ “เทิดศักดิ์” กล่าวว่า บล.เอเซีย พลัส ให้เป้าดัชนี SET สิ้นปีที่ 1,542 จุด และต่ำสุดที่ 1,480 จุด โดยเมื่อดัชนีปรับลดลงมาในระดับ 1,480 จุด จะเป็นจังหวะเข้าซื้อ อย่างไรก็ตาม หากการเมืองดี หลาย ๆ อย่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ ดัชนีก็มีโอกาสปรับขึ้นไปที่ 1,600 จุดได้

Advertisment

ขณะที่ “วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล” กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในไตรมาส 3 หุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจที่โตน้อย สภาพคล่องทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และฟันด์โฟลว์ยังไม่ไหลกลับเข้ามา รวมถึงแรงกดดันจากความกังวลที่เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง ก่อนที่จะหยุด ในปลายไตรมาส 3

“คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 จากปัจจัยกดดันที่คลี่คลายลงและมีปัจจัยบวกสำคัญที่จะเข้ามาหนุนตลาดหุ้น คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออกไทยที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกน่าจะเริ่มชะลอตัวลง ทั้งนี้ ให้เป้าดัชนี SET สิ้นปีที่ 1,600 จุด โดยประเมินจุดต่ำสุดน่าจะไม่หลุด 1,450 จุด ซึ่งคงต้องดูเรื่องการเมืองในประเทศ รวมถึงท่าทีในการดำเนินนโยบายของเฟดเป็นหลัก”

ครึ่งปีหลัง 3 เซ็กเตอร์โดดเด่น

นอกจากนี้ “ดร.กอบศักดิ์” ชี้ด้วยว่า นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนในเซ็กเตอร์ที่โดดเด่น อันดับแรก กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ต่อมาเป็นกลุ่มท่องเที่ยว และคอมเมิร์ซ ส่วนกลุ่มเหล็ก สินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ จะไม่ค่อยดี

“ทำไมนักลงทุนถึงมองเช่นนี้ ตัวของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา มีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ในช่วงปี 2565 เทียบปี 2564 และถ้าดูช่วงไตรมาส 1/2566 เทียบกับปี 2565 กำไรก็เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13% สอดรับกับเทรนด์ของดอกเบี้ยที่กำลังเพิ่มขึ้น โดยรวมทั้งอุตสาหกรรมคือ แบงก์กำลังได้ประโยชน์จากการปรับดอกเบี้ยขึ้น ทำให้มาร์จิ้นของแบงก์ต่าง ๆ ดี รวมถึงเศรษฐกิจฟื้นก็เป็นแรงหนุน”

ขณะที่เซ็กเตอร์ท่องเที่ยวน่าสนใจ ก็เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้นต่อเนื่อง โดยปีที่แล้วทั้งปีมีนักท่องเที่ยว 11.5 ล้านคน แต่ปีนี้แค่ 5 เดือนนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วกว่า 10.5 ล้านคนแล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเป็นอันดับ 2 แล้ว จากปีที่แล้วที่ไม่มีเลย หรือมาแล้วประมาณ 1 ล้านคน

โดยอีกไม่นาน นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเป็นเบอร์ 1 ดูได้จากข้อมูล สายการบินจากจีนมาไทยที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากกว่า 100 เที่ยวบิน เป็น 430 เที่ยวต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ มิ.ย.

“ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา จะเห็นถึงข้อจำกัดของตลาดโลก ที่กระทบการส่งออก รวมถึงภาคอุตสาหกรรมไทย ขณะนี้เครื่องยนต์สำคัญคือการท่องเที่ยว ก็หวังว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะปลดล็อกทุกอย่างที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อย่างเรื่องวีซ่าต่าง ๆ กระบวนการการออกวีซ่า การเข้าเมืองต่าง ๆ ถ้าถามผม คิดว่าปีนี้อยากให้ประกาศเป็นปีแห่งการท่องเที่ยว แล้วปลดล็อกทุกอย่าง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยประคองตัวไปได้” ประธาน FETCO กล่าว