รู้หรือไม่ ตลาดหุ้นไทย จ่ายภาษีปีละเท่าไหร่ ?

หุ้น

FETCO เสนอรายงาน “ตลาดหุ้นไทยกับการจ่ายภาษีให้ภาครัฐ” ชูบทบาทสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจไทย

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้นำเสนอรายงาน เรื่อง “ตลาดหุ้นไทยกับการจ่ายภาษีให้ภาครัฐ” โดยระบุว่า ทุกคนในประเทศล้วนมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีให้กับภาครัฐ ไม่เพียงแต่ประชาชนที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่บุคคลที่เป็นองค์กร หรือเรียกว่า “นิติบุคคล” ก็มีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศด้วยเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะองค์กรหรือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ก็ล้วนมีส่วนสำคัญในการจ่ายภาษีให้ภาครัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศทั้งสิ้น

ซึ่งบทบาทของตลาดหุ้นไทยกับการจ่ายภาษีให้กับภาครัฐนั้น จะมีความสำคัญอย่างไร ?

ตลาดทุนประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งมีส่วนในการสร้างงาน สร้างนวัตกรรม สร้างกำลังซื้อผ่านการจ้างงาน และสร้างผลกำไร ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ให้ภาครัฐผ่านการมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษี และเป็น “ห่านทองคำ” อีกตัวหนึ่งในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) รัฐบาลไทยจัดเก็บภาษีสุทธิหลังหักการจัดสรรแล้วเฉลี่ยปีละ 2.37 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ประมาณ 80% จัดเก็บโดยกรมสรรพากร และกว่า 631,000 ล้านบาทเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล

หากพิจารณาเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจากงบการเงินรวม พบว่าในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนไทย 813 บริษัท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วยมูลค่ารวมกว่า 375,000 ล้านบาท คิดเป็น 50.2% ของภาษีนิติบุคคลที่กรมสรรพากรจัดเก็บทั้งหมดในปี 2565

กลไกการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากมูลค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทจดทะเบียนนำส่งกรมสรรพากรในช่วง 3 ปี หลังจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่าเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปี ก่อนเข้าจดทะเบียน จากความสามารถในการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และความโปร่งใสในการทำบัญชีที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ภาครัฐจัดเก็บจากบริษัทจดทะเบียนแล้ว บริษัทจดทะเบียนยังมีการจ่ายภาษีในรูปแบบต่าง ๆ และไม่รวมถึงภาษีต่าง ๆ ที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นไทยได้จ่ายภาษีให้ภาครัฐ อาทิ ภาษีอื่น ๆ และรวมทั้งอากร ที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายรวมกว่า 277,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรจัดเก็บจากการจ้างงานพนักงานของบริษัทจดทะเบียนไทย ในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 80,325 ล้านบาท หรือ 24% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่สรรพากรจัดเก็บในปี 2564

ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ที่หักจากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อมีการจ่ายปันผล ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงกว่า 249,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 ปีเดียวมีการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย รวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในฐานะผู้มีหน้าที่จ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐ

ที่มา : SETNote 8/2566 ตลาดทุนไทย : บทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยกับการมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษีให้ภาครัฐ