ส่องสถิติการออกหุ้นกู้ ESG ในไทยย้อนหลัง 5 ปี

วิสาหกิจเพื่อสังคม ESG

ย้อนดูสถิติการออกเสนอขายหุ้นกู้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ย้อนหลัง 5 ปี (2561-2565)

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในแหล่งการระดมทุนที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นคือการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social and Governance) Bond ซึ่งในประเทศไทยก็เห็นการเติบโตอย่างชัดเจน และมีการออกจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดในช่วงที่ผ่านมา

โดย “ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนดูสถิติการออกหุ้นกู้ ESG ในแต่ละครั้งนับตั้งแต่ 2561-2565 การออกของหุ้นกู้ ESG ในแต่ละประเภทเป็นอย่างไร

2561 : ปีแรกออกหมื่นล้าน

ในปี 2561 มูลค่าการออกหุ้นกู้ ESG รวมทั้งหมด 10,050 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) 6,850 ล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) 3,200 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีการออกมากสุดในช่วงปีนี้คือกลุ่มภาคเอกชน โดยในปีแรกนี้จะเห็นว่าภาครัฐบาลยังไม่ได้มีการออกหุ้นกู้ ESG

2562 : ออก Green Bond 2 หมื่นล้าน

ในปี 2562 มูลค่าการออกหุ้นกู้ ESG รวมทั้งหมด 29,040 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) 22,000 ล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) 7,040 ล้านบาท โดยการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ในปีนี้หายไปจากที่ปี 2561 ที่มีการออกอยู่ที่ 3,200 ล้านบาท โดยปีนี้ภาคเอกชนยังเป็นกลุ่มที่มีการออกสูงสุด

2563 : ออกเพิ่มขึ้นแตะ 8.6 หมื่นล้าน

ในปี 2563 มูลค่าการออกหุ้นกู้ ESG รวมทั้งหมด 86,400 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) 29,600 ล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) 6,800 ล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่กลับมาออกเพิ่มขึ้นในปีนี้ถึง 50,000 ล้านบาท  โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ภาครัฐบาลหันมาออกหุ้นด้านนี้ และมีสัดส่วนการออกมากกว่าภาคเอกชนสูงถึง 62,800 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนออกอยู่ที่ 23,600 ล้านบาท

2564 : ยอดออกทะลุ 1 แสนล้าน

ในปี 2564 มูลค่าการออกหุ้นกู้ ESG รวมทั้งหมด 186,806 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) 28,706 ล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) 4,000 ล้านบาท หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) 115,105 ล้านบาท และเป็นปีแรกที่มีการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (SLB Bond) 21,000 ล้านบาท โดยปีนี้ภาครัฐบาลยังคงมีสัดส่วนการออกมากกว่าภาคเอกชนสูงถึง 112,100 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนออกอยู่ที่ 56,706 ล้านบาท

2565 : ยอดออกทะลุ 2 แสนล้าน

ในปี 2565 มูลค่าการออกหุ้นกู้ ESG รวมทั้งหมด 219,494 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) 41,209 ล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) 11,400 ล้านบาท หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) 135,884 ล้านบาท และหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (SLB Bond) 31,000 ล้านบาท โดยปีนี้ภาครัฐบาลยังคงมีสัดส่วนการออกมากกว่าภาคเอกชนสูงถึง 143,500 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนออกอยู่ที่ 75,994 ล้านบาท

2566 : ครึ่งปีแรกออกเฉียดแสนล้าน

ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 มูลค่าการออกหุ้นกู้ ESG รวมทั้งหมด 92,427 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) 25,927 ล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) 66,500 ล้านบาท โดยภาครัฐบาลยังคงมีสัดส่วนการออกอยู่ที่ 63,500 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนออกอยู่ที่ 28,927 ล้านบาท

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มูลค่าคงค้าง ESG Bond ภาคเอกชนเท่ากับ 219,017 ลบ. คิดเป็น 5% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว

โดยผู้ออกภาคเอกชนทั้งหมด 23 ราย ได้แก่ BGRIMM, BAY, BCPG, BEM, BTS, Circularity Company Limited, CPN, EA, GPSC, GULF, IRPC, IVL, Kbank, PTTC, RATCH, SPCG, STGT, TFG, TLT, TTB, TU, WHAUP และ XPCL