แบงก์อ่วมสำรองหนี้เสียพุ่งฉุดกำไรไตรมาสแรกหด

โบรกฯ ASP ส่องกำไรสุทธิ Q1/61 กลุ่มแบงก์วูบ 6% เหลือ 4.9 หมื่นล้าน เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน เหนื่อยภาระตั้งสำรองเพิ่มทั้งหนี้เสีย-เกณฑ์มาตรฐานบัญชี IFRS9 ชี้เอฟเฟ็กต์ยกเลิกค่าฟี ฉุดรายได้ส่วนนี้โตแผ่วเหลือ 7% ฝั่งสินเชื่อครึ่งปีแรกหงอย รอแรงส่งครึ่งปีหลังพลิกคึกคัก ลุ้นกำไรทั้งปีแบงก์พุ่งโต 13.5% โกยทะลุ 2.11 แสนล้านบาท

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในงวดไตรมาส 1/2561 (ครอบคลุม 10 ธนาคาร) คาดการณ์ทำกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 48,855 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 17.3% จากไตรมาส 4/2560 (QOQ) ที่ทำได้ 41,644 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง

แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) พบว่า กำไรกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลงราว 5.8% จากไตรมาส 1/2560 กลุ่มแบงก์ที่ทำได้ราว 51,864 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพราะการตั้งสำรองหนี้ฯของแต่ละแบงก์ที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับตามหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) และตามตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่ยังเพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าการตั้งสำรองฯในงวดไตรมาส 1/2561 จะอยู่ที่ระดับ 39,381 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 36,820 ล้านบาท

สำหรับแบงก์ขนาดใหญ่ที่คาดการณ์จะมีกำไรปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกนี้ นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่คาดกำไรไตรมาส 1/2561 จะลดลงกว่า 21.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รองลงมาคือธนาคารกรุงไทย (KTB) -13.5% และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) -8.9% ซึ่งจะสวนทางกับแบงก์ขนาดกลางและเล็กที่คาดทำกำไรสุทธิเติบโต อาทิ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) กำไร +22.6%, บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) +15.5% และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) +11.7%

นางสาวอุษณีย์กล่าวถึงภาพรวมของตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ว่า ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.2% ซึ่งถือว่ายังใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อที่ยังคงทรงตัว

Advertisment

“หนี้เสียส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ 40% สินเชื่อรายย่อย 40% และกลุ่มเอสเอ็มอี 20% ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาพบว่าจะยังไม่ขยายตัวมากนัก เนื่องจากปกติแล้วช่วงต้นปีจะยังไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1-2 ผู้ประกอบการจะยังไม่ใช้สินเชื่อมากเท่าไหร่ ซึ่งคาดว่ากว่าจะเห็นการขยายตัวของสินเชื่อที่คึกคักมากขึ้นต้องรอในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป” นางสาวอุษณีย์กล่าว

พร้อมกันนี้ยังได้ประเมินแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/2561 ว่า กำไรโดยรวมของกลุ่มแบงก์จะทำได้ใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรกนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการขอสินเชื่อที่ยังไม่ขยายตัวมากนัก โดยคาดว่ากำไรของกลุ่มแบงก์จะกลับมาพีกสุดในช่วงไตรมาส 3/2561 และอ่อนตัวลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูงขึ้น โดยฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดการณ์กำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ทั้งปีจะทำได้ประมาณ 211,403 ล้านบาท เติบโตประมาณ 13.5% จากปี 2560 ที่ทำได้ 186,266 ล้านบาท

สำหรับผลกระทบจากการแข่งขันยกเลิกค่าธรรมเนียมบริการ (ค่าฟี) อาทิ การโอนเงิน, จ่ายบิลสินค้า, เติมเงินมือถือผ่านระบบออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นของแบงก์ขนาดใหญ่นั้น นางสาวอุษณีย์กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยได้ประเมินผลกระทบดังกล่าวไว้ในคาดการณ์ข้างต้นแล้ว ซึ่งคาดว่าปีนี้รายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์จะเติบโตเพียง 7% ซึ่งชะลอตัวจากปีก่อนที่โตกว่า 9% โดยค่าฟีส่วนใหญ่จะมาจากค่าธรรมเนียมจากการปล่อยสินเชื่อ, การขายกองทุน และรายได้ค่าฟีจากพวกบัตรเครดิต

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลงเฉลี่ยกว่า 5.5% นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากความกังวลการตั้งสำรองลูกหนี้ฯและเพื่อรองรับ IFRS9 ขณะที่สินเชื่อคาดว่าอาจจะเติบโตได้ประมาณ 3-4% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดทั้งปีประมาณ 6-7% ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาคเกษตรและกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังไม่ฟื้นตัว

Advertisment

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบของการแข่งขันลดค่าธรรมเนียมการโอนและจ่ายบิล ซึ่งรายได้ในส่วนดังกล่าวมีสัดส่วนประมาณ 3-5% ของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และอาจฉุดให้กำไรกลุ่มปีนี้ลดลงประมาณ 1% ซึ่งสะท้อนการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น โดยบริษัทยังคงคำแนะนำเลี่ยงการลงทุนใน KBANK และ SCB