ยืมเงินรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล 10,000 ผ่านแอป “เป๋าตัง”

เงินดิจิทัล

จับตาคลังตั้งรับนโยบาย ครม.เศรษฐา 1 เตรียมแผนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในไตรมาสแรกปี’67 เคาะจ่ายผ่าน “เป๋าตัง” คอนเซ็ปต์ “อีมันนี่” ร้านค้าที่รับอีมันนี่ไม่สามารถนำเงินสดออกมาได้ ต้องนำไปใช้ซื้อสินค้า-วัตถุดิบเพื่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจเปิดแผนหาเงิน 5 แสนล้าน ขยายกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังยืมเงินรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านไม่ต้องรอเงินงบประมาณปี’67 ธ.ก.ส.รับโจทย์ใหญ่พักหนี้เกษตรกรเกือบ 1 ล้านล้าน เดินหน้าลดค่าไฟ-น้ำมันทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีกำหนดแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 11-12 กันยายน 2566 อย่างไรก็ดี จากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเดินหน้านโยบายทำทันที ส่งผลกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีการเตรียมพร้อมและศึกษาข้อมูล เพื่อรองรับกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลใหม่

แจกเงินดิจิทัลผ่าน “เป๋าตัง”

แหล่งข่าวจากทีมทำงานของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายเศรษฐกิจหลักของรัฐบาล คือการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ เป็นไปตามแผน สำหรับภารกิจหลักของกระทรวงการคลังขณะนี้ก็คือ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท และโครงการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ซึ่งต้องยอมรับว่าทั้งสองโครงการมีต้นทุนที่เป็นภาระทางการคลังค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ทุกคน ซึ่งประมาณว่าจะต้องใช้วงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เบื้องต้นวางแนวทางไว้ว่า จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอยู่กว่า 40 ล้านคน โดยช่วงที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้บริหารธนาคารกรุงไทยเข้าหารือแนวทางแล้ว โดยต้องมีการเพิ่มฟังก์ชั่นของโครงการแจกเงินดิจิทัล เข้าไปในแอปเป๋าตัง คล้ายกับที่ทำโครงการ “คนละครึ่ง” ในช่วงที่ผ่านมา

โดยจะเป็นการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนในงวดเดียว เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ทั้งนี้จะเป็นในรูป e-Money โดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเงินในทอดแรก ๆ จะไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ แต่จะต้องนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้า-วัตถุดิบ เพื่อมาค้าขายต่อ เป้าหมายเพื่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ

Advertisment

เช่น แม่ค้าข้าวหนียวหมูปิ้ง เข้าโครงการรับ “อีมันนี่” เข้าถุงเงิน จะไม่สามารถเอาเงินสดออกมาได้โดยตรง โดยจะต้องเอาเงินที่ได้รับไปใช้ซื้อข้าวเหนียว หมู เครื่องปรุงต่าง ๆ เพื่อให้เงินที่ใส่เข้าไปหมุนในระบบหลาย ๆ รอบ อย่างไรก็ดี จะมีการกำหนดคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขบางอย่างสำหรับผู้ประกอบการที่จะสามารถนำเงินสดออกมาได้

สงกรานต์กลับบ้านใช้เงิน

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล นายกฯเศรษฐา ต้องการให้เริ่มโครงการภายในเดือนมีนาคม 2567 เนื่องจากเงินดิจิทัลนี้มีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้จ่ายกับร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของประชาชน ดังนั้นจึงต้องการให้ทันก่อนช่วงสงกรานต์ ซึ่งคนไทยจำนวนมากจะเดินทางกลับบ้าน โดยที่จะมีเงิน 10,000 บาท กลับไปจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ไม่ให้การใช้จ่ายกระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี จากที่ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย กำหนดรัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ทะเบียนบ้าน ก็มีข้อเสนอของทีมกระทรวงการคลัง ให้ขยายรัศมีเพิ่มขึ้น เพราะจากการศึกษาพบว่าระยะทาง 4 กิโลเมตร ในต่างจังหวัดบางพื้นที่ไม่มีร้านค้า หรือมีน้อยมากอาจเป็นอุปสรรคของประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด

เปิดแผนหาแหล่งเงิน

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท แหล่งข่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ตามที่วางแผนไว้เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ ในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่บังคับใช้ก็คือ ต้องใช้มาตรการกึ่งการคลัง โดยยืมเงินรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเงินจากธนาคารของรัฐมาใช้ไปก่อน โดยรัฐบาลจะตั้งงบฯชดเชยคืนให้ในภายหลัง ซึ่งจะมีกรอบวงเงินที่ใช้ได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดว่า ยอดคงค้าง หรือภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ต้องไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

Advertisment

ทั้งนี้ มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ กำหนดว่า การจะใช้เงินตามแนวทางดังกล่าว ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ อาทิ 1) ฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ 2) เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือ 3) ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย หรือการก่อวินาศกรรม

“ตอนนี้วงเงินตามมาตรา 28 ถ้าเป็นตามกรอบของปีงบประมาณ 2566 ก็จะเหลือแค่ประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งไม่พอแน่นอน แนวทางที่ทำได้ก็คือ ต้องขยายกรอบวงเงินตรงนี้ จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลต้องการวงเงินเท่าไหร่ จะขยายเป็นกี่เปอร์เซ็นต์” แหล่งข่าวกล่าว

ลุ้นแจกเงินเร็วสุดภายใน 1 ก.พ.67

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย หลังเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ว่า เมื่อวานนี้ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีของเพื่อไทยทั้ง 16 คนไปแล้ว ถึงนโยบายโดยรวมว่าเราจะทำกันอย่างไร วันนี้จึงอยากย้ำว่า เราเป็นรัฐบาลของประชาชน เราต้องทำงานตลอดเวลา เราไม่ได้มาด้วยต้นทุนที่สูงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราไม่มีเวลาหายใจ

ซึ่งตลอด 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนตลอดเพื่อเก็บข้อมูลแม้จะยังไม่แถลงนโยบายต่อสภา และหลังแถลงนโยบายแล้วก็จะได้ทำงานกันอย่างเต็มที่

ส่วนโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเวต 10,000 บาท เบื้องหลังได้มีการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้แจกเงินให้ประชาชนได้เร็วที่สุด และหวังว่าจะทำให้ได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

พักหนี้เกษตรกรเกือบ 1 ล้าน ล.

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการเรียก ธ.ก.ส.เข้าไปหารือเรื่องแนวทางการพักหนี้เกษตรกรแล้ว แต่ยังไม่ได้เคาะออกมาว่าจะพักหนี้แบบไหน ลูกหนี้กลุ่มไหนที่จะเข้าข่าย โดยขณะนี้แค่ให้ ธ.ก.ส. ทำข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มลูกหนี้ไปรายงาน ซึ่งธนาคารก็รายงานไปเป็นกลุ่ม ๆ ตามระดับการเป็นหนี้ เช่น กลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท, กลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 200,000 บาท, กลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท, กลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 400,000 บาท, กลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น

“แน่นอนว่าถ้ากำหนดวงเงินพักหนี้สูง ก็จะครอบคลุมจำนวนรายลูกหนี้มากขึ้นไปด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะพักแบบไหน ในอดีตก็มีหลายแบบ ตั้งแต่พักหนี้ให้กับกลุ่มหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อมาก็มีพักหนี้ให้กลุ่มเป็นหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท ครั้งนี้ คงต้องรอรัฐบาลแถลงนโยบายออกมาชัดเจนก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 1.62 ล้านล้านบาท จำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 4.26 ล้านราย แบ่งเป็น 1.กลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.55 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 36% สินเชื่อคงค้าง 3.7 แสนล้านบาท 2.กลุ่มเกษตรกร/บุคคลทั่วไป 2.7 ล้านราย สัดส่วน 63% สินเชื่อคงค้าง 1.45 ล้านล้านบาท และ 3.กลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการนิติบุคคลอีก 4 หมื่นราย สัดส่วน 1% สินเชื่อคงค้าง 2.8 แสนล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า การพักหนี้คงต้องพิจารณาร่วมกับรัฐบาลอีกที ว่าจะพักแบบไหน พักเฉพาะเงินต้น หรือดอกเบี้ยด้วย เพราะถ้าพักดอกเบี้ยด้วย จะมีผลกระทบกับงบดุลของธนาคาร รวมถึงมาตรฐานทางบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกจากนี้อาจจะต้องมีมาตรการจูงใจสำหรับลูกหนี้ที่ความสามารถในการชำระ ที่อยากชำระหนี้เป็นปกติด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าโครงการพักหนี้เกษตรกร กำหนดว่าเป็นเกษตรกรที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3-5 แสนบาทต่อราย คาดว่ามูลหนี้ที่พักทั้งหมดเกือบ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากที่ผ่านมีการพักหนี้เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง

ธปท.ห่วงหนี้เกษตรอีสานโต 50%

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ถือเป็นปัญหาใหญ่และเป็นโจทย์ที่ ธปท.ตระหนักมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 90.6% ต่อจีดีพี ถือว่าค่อนข้างสูง จึงเป็นที่มาของการออกแนวทางเรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และการแก้ไขหนี้เรื้อรัง รวมถึงการให้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของคน

อย่างไรก็ดี คงไม่มีมาตรการใดที่สามารถทำให้หนี้ครัวเรือนลงได้ทันที และ ธปท.จะทำมาตรการที่เฉพาะเจาะจงและตรงจุดมากขึ้น เพราะไม่ต้องการสร้างวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ หากดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะพบว่า หนี้ภาคอีสานจะค่อนข้างหนักกว่าภาคอื่น โดยมีภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุดมากกว่าภาคอื่นชัดเจน เฉลี่ยอยู่ที่ 22% เมื่อเทียบกับภาคอื่นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 15-16% และหากดูในหนี้ครัวเรือนภาคอีสานที่หนักที่สุด คือ “หนี้ภาคเกษตร” ที่มีปัญหาเยอะ และเป็นหนี้ที่โตเร็วกว่าที่อื่น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีหนี้เติบโตกว่า 50% และมีแนวโน้มเป็นหนี้เรื้อรังสูง ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ และติดกับดักหนี้

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะท้อนภาพการถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และหนักเป็นพิเศษในภาคอีสาน ซึ่ง ธปท.ได้มีการออกมาตรการ แต่ภาคอีสานก็ต้องเน้นการแก้หนี้ภาคเกษตร แต่ก็คงต้องมาดูแนวทางจะเป็นอย่างไร โดยทั้งหมดไม่มีมาตรการไหนที่จะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงทันที ทุกอย่างต้องใช้เวลา”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของภาคอีสานและประเทศมีความแตกต่างกัน ทำให้การฟื้นตัวแตกต่างกัน ซึ่งของประเทศฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภค แต่ไม่ใช่อีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ยังอิงกับภาคเกษตร และมีปัจจัยความเสี่ยงกดดันหลายเรื่อง เช่น ปัญหาเอลนีโญ ภัยแล้ง ทำให้การเติบโตในภาคอีสานอาจไม่ง่าย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่มีโอกาสของภาคอีสานประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.การเติบโตของสังคมเมืองในระดับไมโครมากกว่าที่อื่น เห็นสัญญาณการขยายตัวในเมืองรอง เช่น บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เป็นต้น 2.จำนวนประชากร การเติบโตแหล่งใหม่ ๆ โดยที่ภาครัฐทำหน้าที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และ 3.การค้าชายแดนที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

KKP ชี้ไม่มีปรับโครงสร้าง ศก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทวิเคราะห์ KKP Research ของกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินระบุว่า ได้ตั้งข้อสังเกตถึง 3 นโยบายของรัฐบาล ที่คาดว่าจะได้รับการผลักดันทันทีในระยะเวลา 1 ปีแรก และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ได้แก่ 1) นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ถ้าทำได้จริงประเมินว่าจะทำให้ GDP ในปี 2567 เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.2% จากประมาณการในปัจจุบัน

2) นโยบายพักหนี้เกษตรกร ซึ่งอาจมีต้นทุนถึง 2 หมื่นล้านบาท และ 3) นโยบายลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และลดราคาน้ำมันดีเซล เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายหลักเป็นนโยบายลดแลกแจกแถม มากกว่านโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

KKP Research ระบุว่า ข้อจำกัดทางการคลังถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่า รัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด โดยปัจจุบันมีวงเงินที่รัฐสามารถกู้เพิ่มจากเพดานการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ หรือใช้ผ่านรัฐวิสาหกิจ ตามกรอบวงเงินภาระทางการคลังตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ได้อีกไม่มากนัก

โดยแม้ว่าระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ 61% ของ GDP ต่ำกว่าเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP แต่มีความจำเป็นต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการใช้เงิน และความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

ค่าไฟ-ค่าน้ำมันต้องลดทันที

ส่วนนโยบายเร่งด่วนอีก 2 เรื่อง ได้แก่ ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ลดราคาทันทีนั้น ล่าสุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แนวทางการดำเนินการจะมีเรื่องหลักเกี่ยวข้องกับ “องค์ประกอบ” ของราคาพลังงานหลายอย่าง อาทิ เรื่องภาษี ค่าการตลาด ภาระการเงิน และเงินกู้ บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนราคาน้ำมันดิบ

แต่สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้ก็คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนกลายเป็น “ราคาขาย” ของพลังงาน จะต้องมาดูว่ามีส่วนใดที่สามารถตัดทิ้ง หรือปรับลดลงได้บ้าง “เราก็จะทำทั้งหมด” และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลงราคาพลังงานต่าง ๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้ ขณะเดียวกัน ก็ยังมองไปที่น้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มชาวประมง สามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า “น้ำมันเขียว” ในราคาพิเศษได้ และควรจะนำมาดำเนินการกับกลุ่มอื่น ๆ อาทิ กลุ่มเกษตรกรด้วย

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหลักสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ควรให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ใช่การนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามากลั่นในประเทศ จนทำให้มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ควบคุมลำบากตามมา แต่นโยบายนี้จะเป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ต้องมี “ค่าการกลั่น” หรือค่าใช้จ่ายอย่างอื่น “หากใครสามารถนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปราคาถูกได้ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยรัฐจะเป็นผู้กำกับดูแลในการจัดการให้รวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

เว้นภาษีสรรพสามิต

มีรายงานถึงแนวทางการลดราคาน้ำมัน ด้วยการปรับลดโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในปัจจุบันนั้น ล่าสุดราคาเนื้อน้ำมันดีเซล ณ หน้าโรงกลั่นอยู่ที่ประมาณ 26.80 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาขายปลีก ณ สถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ราคา 31.94 บาท/ลิตร หรือที่ช่องว่างห่างกันถึง 5.14 บาท/ลิตร ในราคาระหว่างหน้าโรงกลั่น กับหน้าสถานีบริการน้ำมันที่ 5.14 บาท/ลิตรนั้น จะเป็นภาษีสรรพสามิตถึง 5.9 บาท ขณะที่การเก็บเงินเข้า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบอยู่ -4.49 บาท

ดังนั้น หากรัฐบาลเลือกที่จะลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงมาทันที ก็ควรจะต้องเลือกใช้วิธี “ยกเว้น” หรือ “ลด” การเก็บภาษีสรรพสามิต แต่ก็จะกระทบรายได้การจัดเก็บภาษีลดลงประมาณเดือนละ 10,000 ล้านบาท หรือเลือกใช้วิธีลดการจัดเก็บ หรือให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งจะใช้ได้ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซิน โดยปัจจุบันน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ถูกเก็บเข้ากองทุนลิตรละ 0.81-2.80 บาท

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่า ได้เตรียมเสนอแนวทางการลดราคาพลังงานให้รัฐบาลใหม่ 2 แนวทางคือ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน กับการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกองทุนยังมี “วงเงินกู้” เหลืออยู่ประมาณ 55,000 ล้านบาทที่สามารถนำมาใช้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลได้ “จำเป็นต้องรอฟังนโยบายจากรัฐบาลใหม่ก่อน ว่าจะลดราคาน้ำมันทั้งดีเซลหรือเบนซินด้วย ถ้าจะให้ลดราคาลงมาทั้ง 2 ชนิดน้ำมันจะต้องใช้ทั้ง 2 แนวทางคือ ลดภาษีสรรพสามิตและใช้เงินอุดหนุน ส่วนการลดค่าการตลาดนั้น มีความเป็นไปได้เฉพาะค่าการตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3 บาทกว่า/ลิตร ส่วนค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 0.89 บาท/ลิตร ซึ่งถือว่าต่ำมากแล้ว

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน ณ วันที่ 3 กันยายน 2566 ติดลบ 57,132 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 12,390 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้มติดลบ 44,742 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังมีข้อน่าสังเกตอีกด้วยว่า การอุดหนุนราคาน้ำมันครั้งนี้จะต้องใช้เงินมากกว่าสมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการ “ลด” ไม่ใช่การ “ตรึง” ราคาน้ำมัน ประกอบกับกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ยืดหนี้ชำระค่าเชื้อเพลิง กฟผ.

ส่วนการลดราคาค่าไฟฟ้านั้น สามารถดำเนินการได้ 3 วิธีคือ 1) การใช้งบประมาณเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้า โดยช่วยเหลือเป็น “กลุ่มเฉพาะ” เช่น กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย หรือลดแบบขั้นบันได ให้ผู้ใช้ไฟที่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน

2) การให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชน หรือยืดระยะเวลาการใช้หนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับภาระมาก่อนหน้านี้ออกไปอีก ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (ค่า ft) ในงวดถัดไปปรับลดลงในส่วนของการชำระหนี้คืน กฟผ.

3)การเจรจาแก้ไขสัญญาเรื่องค่าความพร้อมจ่าย หรือ availability payment : AP และ 4) การบริหารจัดการราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้ขายราคาเดียวกันกับที่ขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

โดยในส่วนของการลดค่าไฟฟ้าลงทันทีนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า หากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมด และรัฐบาลใหม่เลือกที่จะใช้วิธีเจรจาภาระหนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ.ที่แบกไว้ในอดีต และมาทยอยใช้คืนด้วยการเพิ่มเข้าไปในค่า Ft แต่ละงวดนั้น รัฐบาลจะต้องเจรจากับ กฟผ.ขอให้ “ชะลอ” คืนหนี้ออกไป และรัฐบาลจัดหางบประมารมาอุดหนุนให้ กฟผ.แทน โดยถ้าใช้งบประมาณมาอุดหนุนอย่างต่ำ 15,000 ล้านบาทก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บลดลงเหลือ 4.25 บาท/หน่วย จากปัจจุบันที่เรียกเก็บอยู่ 4.45 บาท/หน่วย

“มีข้อน่าสังเกตว่า วีธีการในการลดค่าไฟ-ค่าน้ำมันทันทีนั้น ไม่หนีไปจากสิ่งที่รัฐบาลชุดก่อนดำเนินการ เพียงแต่จะลดให้นานที่สุดที่เวลาไหน เพราะยิ่งนานเท่ากับการอุดหนุนของรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อมก็จะเพิ่มขึ้น และสุดท้ายภาระในการอุดหนุนก็จะตกกลับมาที่ประชาชนนั้นเอง”

ส่วนแนวคิดในการเปิดให้มีการนำเข้าเสรีน้ำมันสำเร็จรูปราคาถูก เพื่อมา “คาน” กับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศนั้น มีรายงานข่าวจากวงการค้าน้ำมันเข้ามาว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ กับราคาน้ำมันสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ ราคาค่อนข้าง “สู่สี” กันจนไม่มี “ส่วนต่าง” ของราคามากพอที่จะจูงใจให้มีการนำเข้าได้มาก

ประกอบกับปัจจุบันการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปก็เป็นตลาดเสรีอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้นำเข้าต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อที่กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน และต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาในราชอาณาจักร

นั้นหมายถึง ถ้าให้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ผู้นำเข้ารายใหม่ ก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ การสำรองน้ำมันตามกฎหมาย คุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการนำเข้ามาแล้วจะต้องมีสถานีบริการน้ำมันสำหรับการจำหน่ายปลีก ซึ่งประเด็นนี้ ผู้นำเข้ารายใหม่อาจจะไม่มีเครือข่ายในการให้บริการ ตลอดจนกระบวนการในการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในปริมาณมากด้วย